นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯจำเป็นต้องเจรจากับพันธมิตร เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์การค้าทั่วโลกเพื่อต้านอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ในการแถลงข่าวที่เมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ผู้สื่อข่าวถามว่า สหรัฐฯจะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) หรือไม่ นายไบเดนกล่าวว่า ยังไม่สามารถหารือเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯได้ เพราะยังไม่เข้ารับตำแหน่ง แต่ได้ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯมีขนาด 25% ของเศรษฐกิจโลก จึงต้องมีแนวทางการค้าที่สอดคล้องกับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆอีก 25% หรือมากกว่านั้น เพื่อเป็นผู้กำหนดกติกา และกล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐฯ มุ่งให้เกิดการสร้างงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของชาวอเมริกัน และประเด็นเกี่ยวกับแรงงานและสิ่งแวดล้อมต้องอยู่ในการเจรจาการค้า

ทั้งนี้ การลงนามอาร์เซ็ปในการประชุมสุดยอดระดับภูมิภาคที่กรุงฮานอย ของเวียดนาม เป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย รวมเป็น 15 ประเทศ ครอบคลุม 30% ของเศรษฐกิจโลก และ 30% ของประชากรทั่วโลก นับเป็นครั้งแรกในเอเชียที่จีนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มาร่วมในข้อตกลงการค้า โดยมีจุดหมายในการลดอัตราภาษีในหลายพื้นที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ด้านหอการค้าสหรัฐฯได้แสดงความยินดีกับการลงนามอาร์เซ็ปที่เปิดเสรีทางการค้า ที่ผู้ส่งออก แรงงานและเกษตรกรของสหรัฐฯต้องการการเข้าถึงตลาดในเอเชียมากขึ้น แต่ก็มีความกังวลว่ายิ่งเป็นการเพิ่มบทบาทการค้าของจีนในภูมิภาค และสหรัฐฯ จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถอนสหรัฐฯออกจากสนธิสัญญาการค้าหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ในปี 2560 ข้อตกลงการค้าเสรีที่ประกอบด้วย 12 ประเทศ เพื่อ สู้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ที่เจรจาในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ขณะที่ไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี ทั้งนี้ ไบเดนกล่าวเพียงว่า จะพูดคุยแผนการค้าในวันที่ 21 ม.ค.2564 หลังสาบานตนรับตำแหน่ง

...

อย่างไรก็ตาม หอการค้าสหรัฐฯไม่แนะนำให้สหรัฐฯเข้าร่วมอาร์เซ็ป เนื่องจากมองว่ายังมีข้อบกพร่อง เพราะจากข้อตกลงการค้าของสหรัฐฯที่ลงนามเร็วๆนี้ ต่างมีกฎระเบียบที่รัดกุมและบังคับใช้ได้ในประเด็นการค้าดิจิทัล อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ยังแนะว่าสหรัฐฯควรหากลยุทธ์ในการรักษาสถานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ที่มีการคาดการณ์อัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 5% ในปี 2564 และการขยายตัวอย่างรวดเร็วในกลุ่มคนชั้นกลาง.