ดวงจันทร์ไททัน (Titan) หนึ่งในดาวบริวารของดาวเสาร์ จัดว่าเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในระบบสุริยะของเรา มีก๊าซมีเทนหนาทึบปกคลุมพื้นผิวซึ่งอำพรางลักษณะทางธรณีวิทยาที่สำคัญ การสำรวจของยานอวกาศแคสสินีที่โคจรรอบดาวเสาร์ระหว่างปี พ.ศ.2547-2560 นอกจากจะได้ข้อมูลของดาวเสาร์ ก็ยังพ่วงข้อมูลของจันทร์บริวารมาด้วย โดยเฉพาะไททัน

ความลับของไททันจึงท้าทายการค้นหาของนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก ล่าสุด ก็มีการค้นพบโมเลกุลแปลกๆ ในชั้นบรรยากาศของไททันผ่านกล้อง Atacama Large Millimeter/ submillimeter Array (ALMA) ตั้งอยู่ในตอนเหนือของชิลี นักวิทยาศาสตร์จากองค์การนาซาระบุว่าเป็นโมเลกุลที่ชื่อ cyclopropenylidene มีโครงสร้างคาร์บอน 3 อะตอมและไฮโดรเจน 1 อะตอม (C3H2) ซึ่งไม่เคยมีการตรวจพบโมเลกุลนี้มาก่อน สันนิษฐานว่านี่อาจเป็นสารตั้งต้นของสารประกอบที่ซับซ้อนกว่า และอาจก่อตัวหรือเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตบนไททันก็เป็นได้

นักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์จากศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ดของนาซา เผยว่าการพบ cyclopropenylidene เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดจริงๆ และยังมืดมนว่าเหตุใดโมเลกุลนี้จึงมีอยู่ในชั้นบรรยากาศของไททันโดยเฉพาะเมื่อมันไม่มีอยู่ในที่อื่นๆ แต่ก็เชื่อว่าโมเลกุลบนไททันจะสามารถไขความลับประวัติศาสตร์โลกได้เพราะการก่อตัวของไททันคล้ายกับโลกเมื่อเกือบ 4,000 ล้านปีก่อน.

Credit : NASA/JPL/University of Arizversity of Idaho