นับตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตในทะเลที่น่าทึ่งหลายชนิด เริ่มจากญาติแมงกะพรุนที่เรียกว่า ไซโฟโนฟอร์เรียงตัวกันยาว 45 เมตรในนิงกาลู แคนยอน กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ยาวที่สุดในโลก รวมถึงสัตว์ชนิดใหม่อีก 30 ชนิด

ต่อมาในเดือน ส.ค.ก็ได้ค้นพบปะการังสีดำและฟองน้ำสีดำ 5 ชนิด รวมถึงการสังเกตปลาแมงป่องหายากเป็นครั้งแรกในออสเตรเลียที่หมู่เกาะคอรัลและอุทยานทางทะเลเกรทแบร์ริเออร์ รีฟ

ล่าสุด ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน วิจัยมหาสมุทรชมิดท์ (Schmidt Ocean Institute) รายงานว่าได้ค้นพบแนวปะการังแยกเดี่ยวขนาดใหญ่ในบริเวณแนวปะการังมรดกโลก เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ ซึ่งสร้างความตื่นตะลึงเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นแนวปะการังแรกที่ค้นพบได้ในรอบกว่า 120 ปีที่ผ่านมาแถมความสูงของแนวปะการังแห่งใหม่นี้ยังสูงกว่าตึกเอ็มไพร์สเตตในสหรัฐอเมริกาเสียอีก โดยประเมินว่าน่าจะขนาดสูงกว่า 500 เมตร

แนวปะการังแห่งใหม่นี้พบครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังมุ่งมั่นทำแผนที่พื้นทะเลใต้น้ำของเกรท แบร์ริเออร์ รีฟในทางตอนเหนือ และใน 5 วันถัดมา ทีมก็ได้ส่งหุ่นยนต์ใต้น้ำ SuBastian ของสถาบันวิจัยมหาสมุทรชมิดท์ลงไปสำรวจแนวปะการังใหม่ดังกล่าว การดำน้ำในภารกิจนี้ ถูกออกอากาศแบบสดๆ ที่มีความละเอียดสูงเป็นครั้งแรกในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยมหาสมุทรชมิดท์และทางช่องยูทูบ

นักวิทยาศาสตร์เผยว่าฐานของแนวปะการังมีลักษณะคล้ายใบมีดกว้าง 1.5 กิโลเมตร ซึ่งการค้นพบที่ไม่คาดคิดนี้เป็นการยืนยันว่ายังมีโครงสร้างที่ไม่รู้จักและสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ในมหาสมุทรของโลก โชคดีที่เทคโนโลยีใหม่ๆในปัจจุบัน สามารถทำงาน เป็นหูเป็นตาและมือของเราในมหาสมุทรห้วงลึก ทำให้สำรวจได้อย่างกว้างไกลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

...

เทคโนโลยีก้าวล้ำจึงเปรียบเป็นกุญแจช่วยเปิดประตูสู่มหาสมุทรครั้งใหม่ ที่จะทำให้เห็นระบบนิเวศและรูปแบบสิ่งมีชีวิตหลากหลายที่อยู่ร่วมแบ่งปันโลกใบนี้กับมนุษย์เรา.

ภัค เศารยะ