งานวิจัยพบมลพิษทางอากาศมีผลต่ออาการซึมเศร้า พบฝุ่นละอองขนาดเล็กในสมองของมนุษย์ เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคร้าย
- นักวิจัยเผยพบหลักฐานเชื่อมโยงมลพิษทางอากาศกับโรคซึมเศร้า ชี้ผู้ที่สูดดมมลพิษมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศสะอาด
- การเพิ่มขึ้นของก๊าซไนโตรเจน ไดออกไซด์ จากเครื่องยนต์ดีเซล ทำให้ประชากรเสี่ยงการเป็นโรคที่เกี่ยวข้างกับจิตประสาทมากถึง 39 เปอร์เซ็นต์ และกระทบต่อฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด
- สหประชาชาติเผยประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษกว่าสองแสนราย เด็กทารกเสี่ยงที่สุด นักวิจัยเรียกร้องให้ทั่วโลกเร่งลงมือแก้ไขก่อนสายเกินแก้
ปัญหามลพิษทางอากาศไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคุณภาพชีวิตของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ในประเทศอังกฤษเผยผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษฝุ่นละออง มีแนวโน้มเผชิญปัญหาสุขภาพจิต มากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์มากถึงสองเท่า ซึ่งการสูดดมอากาศที่เป็นพิษยังเข้าไปทำลายอวัยวะทุกส่วนของร่างกายจนสุขภาพย่ำแย่ และมีความเชี่ยมโยงกับโรคซึมเศร้า แต่อาการที่เกิดขึ้นจากการสูดดมอากาศเป็นพิษนั้นแตกต่างจากโรคจากพันธุกรรม และสามารถป้องกันได้หากมีการเอาจริงเอาจังกับมาตรการต่างๆ
ประชากรโลก 90 เปอร์เซ็นต์ สูดดมอากาศเป็นพิษ
สถิติจากองค์การอนามัยโลกเผย ประชากรโลก 90 เปอร์เซ็นต์สูดดมอากาศเป็นพิษซึ่งเป็นภัยร้ายต่อสุขภาพ ขณะที่ ดร.เอียน มัดเวย์ นักวิชาการจาก วิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน ชี้ว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองมีโอกาสมีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ (Mental Disorder) และยังพบความเชี่ยมโยงระหว่างมลพิษที่ส่งผลให้เกิดอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น
...
ยิ่งไปกว่านั้นการเติบโตในพื้นที่ที่มีมลพิษสูง ส่งผลให้เป็นโรคความผิดปกติทางจิตประสาท ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสติปัญญาเชื่อมโยงกับโรคสมองเสื่อม และมีแนวโน้มเข้าไปทำลายอวัยวะทุกๆ ส่วนของร่างกาย
สอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Social Psychiatry and Psychiatric Epidemiology ที่ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้นักวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถทำการทดลองความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษและสุขภาพมนุษย์ได้โดยตรง แต่พบความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศกับอาการอักเสบภายในร่างกาย และพบหลักฐานที่ชี้ว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้นมีความเกี่ยวพันกับความเสียหายของโมเลกุลสมอง
ขณะที่เว็บไซต์ นิวส์ไซเอนทิสท์ ตั้งข้อสังเกตว่า ผลการวิจัยที่เชื่อมโยงฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 และโรคซึมเศร้า โดยถึงแม้จะไม่สามารถฟันธงความเสียหายของสมองที่เกิดขึ้นจากมลพิทางอากาศได้โดยตรง แต่งานวิจัยจากทั่วโลกพบหลักฐานที่คล้ายคลึงกัน ชี้ว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถเข้าไปในสมองมนุษย์ผ่านทางเส้นเลือด กระทบต่อฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด
มลพิษทางอากาศ สาเหตุประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ด้านสหประชาชาติ ชี้ประชากรโลก 226,000 ศพ ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในปี 2016 จากการสูดดมอากาศที่เป็นพิษในพื้นที่แถบเมดิเตอร์เรเนียน โดยพบเด็กทารกเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด
ปัญหามลพิษยังเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความหลากหลายทางชีวภาพ และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชียใต้ และแอฟริกา ขณะที่ธนาคารโลกชี้ว่าปัญหามลพิษได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 156 ล้านล้านบาท
นักวิทย์เรียกร้องจัดการปัญหามลพิษ
...
ความเสียหายที่เกิดจากมลพิษทางอากาศนั้นแตกต่างปัญหาสุขภาพทางพันธุกรรม ที่ถูกถ่ายทอดผ่านสายเลือดซึ่งในบางเคสไม่อาจหลีกเลี่ยงโรคภัยทางพันธุกรรมได้ แต่ปัญหาทางสุขภาพที่เกิดจากมลพิษนั้นสามารถจัดการได้หากทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา
ด้านศาสตราจารย์ อันนา ฮานแซล จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ประเทศอังกฤษ ระบุว่า ขณะนี้มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการลดมลพิษทางอากาศที่ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพเรื้อรังและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และประชาชนควรหันมาสนใจสุขภาพของตน
ปัญหามลพิษเป็นปัญหาที่ประชาชนทุกคนต้องลงมือแก้ไข ไม่ใช่แค่วิตกกังวล ซึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นผลเสียจากมลพิษที่ทำลายสุขภาพนั้นชัดเจนพอที่จะทำให้เกิดการตั้งคำถามและเรียกร้องการลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง.
ผู้เขียน: ปานฝัน
ที่มา: Guardian, Newsscientist, Independent
...