ทากลามากัน หรือทากลิมากัน คือชื่อของทะเลทรายซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของจีน ท่านที่นึกไม่ออกขอให้จินตนาการว่า ทะเลทรายทากลามากันตั้งอยู่ตอนกลางของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ อยู่ระหว่างเทือกเขาเทียนชานทางด้านเหนือ กับเทือกเขาคุนหลุนชานทางด้านใต้ พื้นที่กว้างขวางใหญ่โตถึง 323,750 ตารางกิโลเมตร
ในอดีต ทากลามากันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายใหม่ซึ่งเชื่อมระหว่างจีนกับเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันตก มีสภาพอากาศเลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หน้าร้อนอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส หน้าหนาวอุณหภูมิต่ำ -20 องศาเซลเซียส นอกจากนั้น สภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งการเข้าถึงน้ำประปา ไฟฟ้า การติดต่อสื่อสารก็ลำบากยากเข็ญ
ปัจจุบันทะเลทรายทากลามากันกำลังจะกลายเป็นเส้นทางการขนส่งสำคัญทางภาคตะวันตกของจีน เพราะตอนนี้คันทางของถนนสายใหม่แห่งที่ 3 ความยาว 334 กิโลเมตร ที่ตัดผ่านทากลามากันสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถนนสายนี้ตั้งอยู่ในแคว้นปกครองตนเองมองโกเลียปาอินกัวเหลิง ทางใต้ของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน
กว่าจะก่อสร้างได้ก็หนักหนาสาหัสพอสมควร ทีมก่อสร้างของบริษัท ไชน่า คอมมูนิเคชันส์ คอนสตรัคชัน จำกัด หรือ CCCC เล่าว่าต้องไถเกลี่ยเนินทรายสูงถึง 32 แห่ง บางแห่งสูงถึง 80 เมตร ต้องใช้เวลานานเกือบครึ่งปีกว่าจะไถเสร็จ คาดว่าหลังจากเริ่มใช้ถนนอย่างเต็มรูปแบบ พ.ศ.2564 จะทำให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจทางแถบนี้คึกคักมากขึ้น
ผู้อ่านท่านคงเคยได้ยินนโยบายการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตกของจีน หรือ Go West Policy นะครับ นโยบายนี้เป็นยุทธศาสตร์ชาติของจีนตั้งแต่ พ.ศ.2543 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สมัยก่อนตอนโน้น คนทั้งโลกยังหัวเราะกันจนฟันกระเด็นออกมานอกปากว่า อ้า อย่างจีนน่ะหรือ จะพัฒนาดินแดนห่างไกลทุรกันดารทางฝั่งตะวันตกให้มีความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมให้ทัดเทียมกับมณฑลฝั่งตะวันออกของจีนได้
...
ยุทธศาสตร์ชาติคือแผนระยะยาวที่รัฐบาลต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตกของจีน มี 6 มณฑลคือ กานซู่ กุ้ยโจว ชิงไห่ เสฉวน และยูนนาน + 5 เขตปกครองตนเองคือ กว่างซี มองโกเลียใน หนิงเซียหุย ทิเบต และซินเจียง รวมทั้ง 1 เทศบาลนครคือ นครฉงชิ่ง กินพื้นที่ถึงร้อยละ 71.4 หรือ 2 ใน 3 ของประเทศ แต่กลับมีประชากรเพียงร้อยละ 28.8
รัฐบาลจีนวางแผนพัฒนาไว้อย่างต่อเนื่องถึง 50 ปี มี 3 ระยะ คือ ช่วง พ.ศ. 2544–2553 เป็นช่วงระยะเริ่มต้น ที่เน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อมเชิงนิเวศ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการศึกษา และส่งเสริมให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ต่อมาเป็นระยะกลาง พ.ศ.2554–2573 เป็นช่วงที่ต่อยอดจากระยะเริ่มต้น ตอนนี้เราจึงเห็นภาครัฐเร่งผลักดันเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ระบบตลาด ระบบนิเวศ และยกระดับอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นไปแบบก้าวกระโดด
ส่วนระยะสุดท้าย พ.ศ. 2574-2593 จีนเน้นสร้างความแข็งแกร่งให้พื้นที่ เร่งพัฒนาพื้นที่เกษตรปศุสัตว์ของชนกลุ่มน้อย พื้นที่ชายแดน และพื้นที่สงครามในอดีต รวมทั้งยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพชีวิตของประชากรในภูมิภาคตะวันตก
เพราะพื้นที่ทางแถบนี้บางส่วนเป็นทะเลทราย ประชากรยากจนข้นแค้น ทางการจีนจึงต้องระดมสรรพกำลังในการพลิกฟื้นผืนดินอันแห้งแล้งให้กลายเป็นโอเอซิสหรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่พืชพรรณต่างๆ สามารถขึ้นและเจริญเติบโตได้ ตอนนี้ทะเลทรายเหมาอูซู่ พื้นที่ 4.2 หมื่นตารางกิโลเมตร กลับเขียวขจี ชาวบ้านสามารถปลูกพืชผักผลไม้ นำความมั่งคั่งมาสู่ชุมชนที่เคยลำบากยากแค้นแสนสาหัส
องค์ความรู้และประสบการณ์ที่จีนใช้พัฒนาพื้นที่ของตนเอง เมื่อทำสำเร็จแล้ว จีนก็เอาความรู้และประสบการณ์นี้ไปพัฒนาใน ประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายประเทศในทวีปแอฟริกาและในตะวันออกกลาง ทำให้ประชาชนคนทางแถบนั้นเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน
ความเชื่อพวกนี้นี่แหละครับ ที่ทำให้คนค่อยๆมั่นใจในสินค้าจีน.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com