โควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจวงกว้างไปทั่วโลกมากมายเกินจินตนาการ โควิด-19 ทำลายธุรกิจจนล้มละลาย หลายกิจการสิ้นเนื้อประดาตัว พอกิจการปิดตัวลง ย่อมส่งผลกระทบต่อแรงงานทั้งภาคการผลิตและภาคบริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ก่อนหน้านี้ ผมจับตาดูสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก และภาวนาขอให้การแพร่ระบาดของไวรัสร้ายนี้บรรเทาเบาบางลง ทว่า จนถึงปัจจุบันทุกวันนี้ เสียงโอดโอยโหยหวนยิ่งร่ำระงมไปทั้งโลก เพราะโควิด-19 กลับมาแพร่ขยายกระจายอย่างหนักในทุกทวีป และไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลง
สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่กำลังโดนโควิด-19 ระบาดรอบ 2 จนต้องออกมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งประกาศล็อกดาวน์ในหลายเมือง ขณะที่ผมเขียนรับใช้ผู้อ่าน สหราชอาณาจักรมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 4.39 ล้านคน เสียชีวิต 4.2 หมื่นคน
ตอนนี้ 40 มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร อย่างมหาวิทยาลัยเบลฟาสต์ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เมโทรโพลิทัน มหาวิทยาลัยเอสเซ็กซ์ ฯลฯ ต้องหยุดการเรียนการสอนเพราะมีนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหลายพันคนต้องถูกกักตัว เมื่อหยุดสอน ปัญหาที่ตามมาคือ เรื่องค่าธรรมเนียม ค่าเทอม ค่าหอพัก ฯลฯ ทั้งของนักศึกษาที่จ่ายไปแล้ว ใครจะรับผิดชอบ
ที่ผมเห็นใจมากที่สุดคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษาก็ต้องเรียนๆ หยุดๆ หรือแม้จะมีการเรียนทางไกลหรือเรียนออนไลน์ แต่บางพื้นที่ก็มีศักยภาพไม่เท่ากัน บางครั้งก็ขาดช่วงขาดตอน
ส่วนนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษาในช่วงนี้ ก็ต้องพบกับการแข่งขันในตลาดแรงงานที่ฟัดกันอย่างดุเดือด เพราะงานมีจำกัด
ทุกท่านทราบดีว่า เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังพะงาบๆ ภาคธุรกิจต่างๆปรับลดการจ้างงาน หรือไม่ก็ลดชั่วโมงการทำงานลงเพื่อพยุงกิจการให้ดำเนินต่อไปได้ ทำอย่างนี้มาตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อแรงงานทั่วโลก หลายแห่งเลิกจ้าง
...
องค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาด ตั้งแต่ 9 เดือนก่อนจนถึงตอนนี้ จีดีพีของโลกหายไปมากถึง 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 5.5 ของจีดีพีโลก
โดยเฉพาะเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 องค์การแรงงานระหว่างประเทศบอกว่า ชั่วโมงการทำงานของแรงงานทั่วโลกหายไปถึงร้อยละ 17.3 เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ระบาด หากคิดเวลาการทำงานเป็น 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็เทียบเท่าได้กับการสูญเสียตำแหน่งงานประจำมากถึง 495 ล้านตำแหน่ง
หันมาดูเมืองไทยของเรา เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 มีผู้ว่างงานแล้ว 7.5 แสนคน และยังมีคนหยุดงานชั่วคราวอีกมากกว่า 2.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านคนเมื่อเทียบกับ พ.ศ.2562 เป็นอัตราการว่างงานของไทยสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลก พ.ศ.2551 ซึ่งมีนักวิเคราะห์ประเมินไว้ว่าจากวิกฤติโควิด-19 จะมีแรงงานไทยตกงานมากกว่า 5-8 ล้านคน
นอกเหนือจากพิษโควิด-19 แล้ว สงครามการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนในประเทศตกงานได้อย่างฉับพลันทันที
กรณีออสเตรเลียกับจีน อย่างที่ผมเคยเรียนรับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพไปก่อนหน้านี้ว่า เพราะทางการออสเตรเลียออกตัวเรื่องการเรียกร้องให้มีการสอบสวนระหว่างประเทศ เกี่ยวกับที่มาในการแพร่ระบาดของโควิด–19 ทำให้รัฐบาลจีนฉุนขาด และตอบโต้ด้วยการแบนสินค้าหลายรายการจากออสเตรเลีย ทั้งการระงับการนำเข้าเนื้อวัว ขึ้นภาษีข้าวบาร์เลย์ และสอบสวนการทุ่มตลาดไวน์ของออสเตรเลีย
ที่สำคัญคือ การสั่งแบนการวางระบบและพัฒนาเครือข่ายหัวเว่ย 5G ของออสเตรเลีย ทำให้บริษัทหัวเว่ย ออกมาประกาศแล้วว่าจะลดจำนวนพนักงานเทคโนโลยีขั้นสูงและค่าจ้างสูงออกถึง 1,000 คนจากพนักงาน 1,200 คน ตั้งเป้าไว้ว่าให้เหลือน้อยกว่า 200 คน และปีหน้าก็อาจจะลดพนักงานหัวเว่ยออสเตรเลียลงอีก
นอกจากจะเอาคนออกแล้ว หัวเว่ยยังประกาศระงับการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ 2.25 พันล้านบาท แถมยังยุติการเป็นสปอนเซอร์สโมสรรักบี้ของออสเตรเลียเร็วกว่ากำหนด 1 ปี
สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกไม่ดีอย่างมาก ท่านที่มีงาน โปรดรักษางานไว้ให้ดี เพราะโลกในตอนนี้ไม่มีอะไรแน่นอนครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com