• ชาวอเมริกันในเทกซัส หวาดผวาหนัก พบเชื้ออะมีบากินสมองในน้ำประปา คร่าชีวิตเด็กชายน่ารักวัย 6 ขวบ สุดเศร้า
  • ประกาศภัยพิบัติเมืองเลค แจ็คสัน กินน้ำประปาต้องต้ม อาบน้ำ ล้างหน้า ว่ายน้ำระวังน้ำเข้าจมูก
  • เผยเชื้ออะมีบากินสมอง ติดเชื้อยาก แต่ถ้าติดเชื้อแล้วโอกาสรอดน้อย รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต 

ช็อก ด.ช.วัย 6 ขวบ เสียชีวิต ติดเชื้ออะมีบากินสมองในน้ำประปา

ชาวอเมริกัน โดยเฉพาะในรัฐเทกซัสหวาดผวากันอย่างหนัก เมื่อเด็กชายหน้าตาน่ารัก วัยเพียง 6 ขวบ ‘โจเซีย แมคอินไตร์’ ซึ่งอยู่ที่เมืองเลค แจ็คสัน ต้องมาเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จากการติดเชื้ออะมีบากินสมอง (Brain-Eating Amoeba) ชนิด ‘นีเกลอเรีย’ (Naegleria fowleri) ซึ่งก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา ที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำประปา!!

เรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ร้ายแรงที่สร้างความสะพรึงกลัวอย่างมาก เพราะปกติแล้ว อะมีบากินสมองนี้จะไม่พบในน้ำประปา แต่ที่ผ่านมา จะพบเชื้อเฉพาะในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

การเสียชีวิตของด.ช.แมคอินไตร์ ซึ่งพ่อแม่ยากเกินทำใจ เมื่อ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การตรวจสอบหาเชื้ออะมีบากินสมองในน้ำประปาในเมืองเลค แจ็คสัน และผลตรวจเบื้องต้นออกมาเมื่อวันเสาร์ที่ 26 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่นว่า พบเชื้ออะมีบากินสมอง ชนิด ‘นีเกลอเรีย’ ในตัวอย่างน้ำประปา 3 ตัวอย่างจาก 11 ตัวอย่าง ซึ่งตัวอย่างน้ำประปา 1 ใน 3 ที่พบอะมีบากินสมองนั้น อยู่ในสายยางฉีดน้ำที่บ้านของเด็กชายแมคอินไตร์ด้วย

...

 ห้ามใช้น้ำประปาใน 8 เมืองของเทกซัสทันที

ทางการรัฐเทกซัสได้แจ้งประชาชนใน 8 เมือง อาทิ เลค แจ็คสัน, ฟรีพอร์ต, แองเกิลตัน, บราโซเรีย และริชวูด ห้ามใช้น้ำประปาในทุกๆ เรื่อง ยกเว้นแค่กดชักโครกในห้องสุขาเท่านั้น ก่อนจะยกเลิกคำสั่งนี้ใน 7 เมืองเมื่อวันเสาร์ที่ 26 ก.ย. 63 ยกเว้นแต่ เมืองเลค แจ็คสัน ซึ่งมีประชากรกว่า 27,000 คนเท่านั้น

ประกาศให้เลค แจ็คสัน เป็นเมืองประสบภัยพิบัติ

เกร็ก แอ็บบอตต์ ผู้ว่าการรัฐเทกซัส ได้ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ก.ย. 2563 ให้เมืองเลค แจ็คสัน เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ หลังจากมีการตรวจพบเชื้ออะมีบากินสมอง นีเกลอเรีย ในน้ำประปา พร้อมกับแจ้งประชาชนที่ใช้น้ำประปาจากสำนักงานประปา Brazosport Water Authority ว่าต้องต้มน้ำประปาก่อนนำมาบริโภค

คณะกรรมาธิการด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมรัฐเทกซัส (The Texas Commision on Environmental Quality) หรือ TCEQ ยังแนะนำให้ประชาชนควรป้องกันไม่ให้น้ำประปาเข้าจมูก เวลาอาบน้ำทั้งอาบแบบในอ่างอาบน้ำหรือฝักบัว รวมไปถึงเวลาว่ายน้ำ และล้างหน้า

เชื้ออะมีบากินสมอง (Brain-Eating Amoeba) ชนิด ‘นีเกลอเรีย’
เชื้ออะมีบากินสมอง (Brain-Eating Amoeba) ชนิด ‘นีเกลอเรีย’

เทกซัสเครียด ต้องใช้เวลา 2-3 เดือนฆ่าเชื้อในระบบน้ำประปา

เมื่อ 29 ก.ย. 63 เจ้าหน้าที่ TCEQ ยอมรับว่า อาจใช้เวลา 2-3 เดือนในการฆ่าเชื้ออะมีบากินสมองในระบบน้ำประปาของเมืองเลค แจ็คสัน ในขณะที่ เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมได้ยกเลิกคำเตือนให้ประชาชนในเมืองเลค แจ็คสัน หยุดใช้น้ำประปา เพราะอาจจะยิ่งทำให้เชื้ออะมีบามรณะกินสมองปนเปื้อนในน้ำประปามากขึ้น เพียงแต่ประชาชนจะต้องต้มน้ำก่อนนำมาบริโภค

ปกติแล้วอะมีบากินสมอง พบในดิน แหล่งน้ำตามธรรมชาติ

ตามข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่าโรคอะมีบากินสมอง ซึ่งเกิดจากสัตว์เซลล์เดียว ที่เรียกว่า ‘อะมีบา’ ชนิดโปรโตซัว นั้น มักพบในดิน ทะเลสาบน้ำอุ่น แม่น้ำ บ่อน้ำพุร้อน และอาจพบในสระว่ายน้ำที่ระบบดูแลจัดการไม่ดี หรือสระว่ายน้ำที่ไม่ใส่สารคลอรีนฆ่าเชื้อ

การพบอะมีบากินสมองในระบบน้ำประปา Brazosport Water Authority ทำให้ TCEQ กำลังดำเนินการตรวจสอบระดับสารคลอรีนในน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาในเมืองเลค แจ็คสัน 

สหรัฐฯ พบผู้ป่วยติดเชื้ออะมีบากินสมองไม่มาก

CDC ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2009-2018 ได้รับรายงาน การติดเชื้ออะมีบากินสมองมีการติดเชื้อได้ยาก แต่ถ้าติดแล้วก็เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยในสหรัฐอเมริกา พบผู้ติดเพียงแค่ 34 ราย และในจำนวนนี้  30 รายติดเชื้อจากการไปเล่นน้ำเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ในขณะเดียวกัน ตามรายงานของ CDC ระบุว่า ตั้งแต่ปี 1962-2018 มีผู้ติดเชื้ออะมีบากินสมอง 145 ราย และในจำนวนนี้ รอดชีวิตเพียง 4 รายเท่านั้น

...

สะพรึง อะมีบากินสมอง ติดเชื้อยาก แต่รุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต

ตามข้อมูลของเว็บไซต์ SIRIRAJOnline รายงานแพทย์ศิริราชเคยพบเชื้ออะมีบากินสมองในผู้ป่วยเมื่อปี 2553 หลังจากได้เงียบหายไปนานกว่า 10 ปีก่อนหน้า โดยระบุว่า โรคอะมีบากินสมอง เกิดจากสัตว์เซลล์เดียว ที่เรียกว่า ‘อะมีบา’ ชนิดโปรโตซัว ส่วนใหญ่ที่พบมี 2 ชนิด

คือ 1. นีเกลอเรีย (Naegleria) เป็นเชื้อที่มีการแบ่งตัวออกจากกันเป็นจำนวนมากและรวดเร็ว มีอานุภาพร้ายแรงในการทำลาย กัดกินเนื้อสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ เหมือนไข้หวัดธรรมดา จากนั้นจะเริ่มตัวแข็ง คอแข็ง สมองบวม โดยเชื้อจะไชเข้าทางโพรงจมูกและขึ้นไปกินเนื้อสมองอย่างรวดเร็ว

 2. อะคันธามีบา (Acanthamoeba) มีการแบ่งตัวออกจากกันช้ากว่าชนิดแรก โดยทั่วไปจะติดเชื้อที่ปอด แผลตามผิวหนังและเยื่อกระจกตา ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ เซื่องซึม ความดันในกะโหลกสูงขึ้น คอแข็ง มีก้อนแข็งๆ ในสมอง เชื้อชนิดนี้พบในน้ำทะเล

โดยทั่วไปแล้ว เชื้ออะมีบาจะอาศัยในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่นบ่อน้ำ หรือเขื่อนที่มีน้ำขังนิ่ง แต่จะไม่พบเชื้อในน้ำที่มีคลอรีนผสมอยู่ และผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อส่วนมากจะเสียชีวิตภายใน 1 สัปดาห์ โดยที่ผ่านมาจนถึงปี 2553 ทั่วโลกพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อ‘อะบีมากินสมอง’ ประมาณ 500 กว่าคน แต่รอดชีวิตเพียง 6 รายเท่านั้น..

ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา : CBSNews, CNN,BBC

...