สิ่งมีชีวิตที่ตายไปกลายเป็นปุ๋ยเพื่อส่งต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ให้เจริญเติบโตงอกงาม เป็นแนวคิดที่ทำให้บริษัทลูป สตาร์ตอัพในเนเธอร์แลนด์ เกิดไอเดียได้สร้าง “โลงศพที่มีชีวิต” (living coffin) ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ นั่นหมายความว่าเนื้อหนังมังสามนุษย์ที่ม้วยมรณาจะย่อยสลายเป็นสารอาหารหลักให้พืชดูดซึมไปใช้

“โลงศพที่มีชีวิต” ที่จะช่วยนำร่างอันไร้วิญญาณกลับคืนสู่สามัญ ที่สตาร์ตอัพชาวดัตช์คิดค้นนี้ แทนที่จะใช้ไม้ตามปกติทั่วไป พวกเขาได้เปลี่ยนเป็นไมซีเลียม (mycelium) ซึ่งเป็นโครงสร้างรากที่อยู่ใต้ดินของเห็ดและมีอยู่เต็มในชั้นฐานของมอส ไมซีเลียมจะกระตุ้นการสลายตัว ดูดซึมสารพิษ และสามารถเปลี่ยนร่างกายมนุษย์ที่เน่าเปื่อย เป็นประโยชน์ต่อพืช ตัวอย่างของการ ใช้งานไมซีเลียมที่ผ่านมาก็คือ นำไปใช้ในพื้นที่ภัยพิบัติของนิวเคลียร์เชอร์โนบิลเพื่อทำความสะอาดดิน ซึ่งในสถานที่ฝังศพมนุษย์ดินจะมีความเป็นมลพิษสูง เรียกว่าเป็นของชอบของไมซีเลียมก็ว่าได้ เพราะมันชอบโลหะ น้ำมัน และไมโครพลาสติกมาก

...

นักวิจัยเผยว่าผสมไมซีเลียมกับเศษไม้ในแม่พิมพ์ของโลงศพ และปล่อยให้ไมซีเลียมเติบโตผ่านเศษไม้ โลงศพจะแห้งและแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม เมื่อนำไปฝังและปฏิสัมพันธ์กับน้ำใต้ดิน โลงศพจะย่อยสลายภายใน 30-45 วัน และการสลายของร่างกายคาดว่าจะใช้เวลาเพียง 2-3 ปีแทนที่จะใช้เวลาถึง 10-20 ปีกับโลงศพแบบดั้งเดิม ทั้งนี้ สนนราคา “โลงศพที่มีชีวิต” ตั้งไว้ที่ 1,761 ดอลลาร์ต่อโลง หรือราวๆ 54,000 บาท.