บทความพิเศษโดย โจเซพ บอเรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป (อียู) เรื่อง “ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป : สิ่งจำเป็น หาใช่เพียงคำพูดหรูหรา”

ขณะที่อียูและอาเซียนมุ่งแก้ปัญหาและวางแผนฟื้นฟูความเสียหายจากโควิด-19 เราต้องระมัดระวังไม่ให้เรื่องอื่นๆที่อิงตามกฎกติกาสากลต้องถูกทำลายหรือลดทอนคุณค่า ไม่ควรอนุญาตให้ประเทศใดบ่อนทำลายกฎหมายระหว่างประเทศและความมั่นคงทางทะเลในทะเลจีนใต้โดยปราศจากการคัดค้าน เพราะนั่นคือภัยคุกคามต่อการพัฒนาอย่างสันติของภูมิภาค

ท่ามกลางความระส่ำระสายทางเศรษฐกิจเพราะการระบาดใหญ่ การทำให้เสถียรภาพของภูมิภาคต้องหยุดชะงักหรือสั่นคลอนจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ อียูเองเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ เนื่องจากสินค้าส่งออกของเราร้อยละ 40 ต้องผ่านเส้นทางในทะเลจีนใต้ เราอยากเห็นทุกฝ่ายละเว้นจากการคุกคาม การใช้กำลังต่อกัน การเสริมกำลังทางทะเลและการกระทำที่ยั่วยุใดๆทั้งสิ้น ทุกฝ่ายควรใช้ความอดทนอดกลั้นและยุติข้อพิพาทด้วยสันติวิธี ผ่านกลไกต่างๆที่มีอยู่ เช่น กลไกการระงับข้อพิพาทภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ความมั่นคงของเอเชียมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับความมั่นคงของยุโรป เราจึงต้องยกระดับความร่วมมือในเรื่องนี้ ปีที่ผ่านมา อียูได้ลงนามในข้อตกลงซึ่งอนุญาตให้เวียดนามมีส่วนร่วมในภารกิจทางทหารและพลเรือนในยุโรป หวังว่าการมีส่วนร่วมของเวียดนามในภารกิจนี้ จะเป็นครั้งแรกของภารกิจอื่นๆที่เราจะมีร่วมกับพันธมิตรในอาเซียน ภารกิจของเราไม่เพียงเพื่อรักษาความมั่นคงทางทหารของยุโรปเท่านั้น แต่ยังมีส่วนบำรุงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในหลายพื้นที่ที่มีความท้าทายมากที่สุดของโลก

อียูจะเป็นพันธมิตรที่อาเซียนเชื่อถือและไว้วางใจได้เสมอ เราไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ สิ่งที่เราพยายามทำคือการปกป้องระบบสากลที่ยึดกฎกติกาและสร้างความมั่นใจว่ามนุษย์ทุกคนจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีสิทธิเสรีภาพต่างๆที่เขาควรจะได้รับ ความรับผิดชอบพิเศษที่อาเซียนและอียูมีร่วมกันคือปกป้องระเบียบพหุภาคีของโลก ท่ามกลางการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมทั้งความไม่แน่นอนในสถานการณ์ทั่วโลกเช่นนี้
การรักษาระเบียบพหุภาคีของโลกยิ่งมีความหมายมากกว่าในอดีต ความเป็นพันธมิตรของพวกเราจึงไม่ใช่เพียงแค่คำพูดหรูหราอีกต่อไป หากแต่เป็นสิ่งที่จำเป็น.

...