ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะให้คำมั่นว่าจะถ่ายโอนอำนาจโดยสันติ ถ้าแพ้อดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้ง 3 พ.ย.นี้ ทำให้ถูกโจมตีจากทั้งพรรคเดโมแครตและภายในพรรครีพับลิกันของตนเอง

ระหว่างแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อ 23 ก.ย. ผู้สื่อข่าวถามว่าทรัมป์จะยึดมั่นในการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติหรือไม่ ถ้าชนะ แพ้ หรือเสมอกับไบเดน ทรัมป์ตอบว่าไม่ขอให้คำมั่นเรื่องนี้ ต้องรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น และย้ำว่าตนร้องเรียนมาตลอดเรื่องการลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์เพิ่มขึ้น ซึ่งคือ “หายนะ” เพราะจะทำให้เกิดการโกงการเลือกตั้ง เมื่อผู้สื่อข่าวแย้งว่า “ประชาชนจะก่อจลาจล” ทรัมป์พูดว่า “กำจัดบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ คุณจะมีสันติอย่างยิ่ง จะไม่มีการถ่ายโอนอำนาจ แต่จะมีความต่อเนื่อง”

คำพูดของทรัมป์มีขึ้นก่อนที่เขาจะเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เป็นสตรีคนใหม่ใน 26 ก.ย.เพื่อให้วุฒิสภารับรอง แทนนางรูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ผู้พิพากษาสายเสรีนิยมที่เสียชีวิตเมื่อ 18 ก.ย. ซึ่งจะทำให้มีผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมตามแนวทางของพรรครีพับลิกันในศาลฎีกาถึง 6 คน จากทั้งหมด 9 คน ทำให้ทรัมป์ได้เปรียบถ้าศาลฎีกาต้องชี้ขาดผลการเลือกตั้ง โดยทรัมป์ชี้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไปสิ้นสุดในศาลฎีกา เพราะฝ่ายเดโมแครตจะใช้การลงคะแนนทางไปรษณีย์โกงเลือกตั้ง โดยอ้างเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าทำได้ยาก

ด้านไบเดน ซึ่งมีคะแนนนิยมนำทรัมป์ห่างนับ 10 จุด ก่อนการเลือกตั้งแค่ 41 วัน กล่าวถึงท่าทีของทรัมป์ว่า “ไร้เหตุผล” ส่วนทีมหาเสียงของไบเดนเผยว่าเตรียมรับมือกับเล่ห์เพทุบายใดๆของทรัมป์ และย้ำคำพูดเมื่อเดือน ก.ค.ว่า รัฐบาลสหรัฐฯสามารถควบคุมตัวผู้บุกรุกออกจากทำเนียบขาวได้ กรณีที่ทรัมป์ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้

...

ท่าทีของทรัมป์ยังถูกต่อต้านจากนายมิตต์ รอมนีย์ วุฒิสมาชิกรัฐแมสซาชูเสตต์แห่งพรรครีพับลิกันเอง ผู้มักวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ โดยเขาชี้ว่ารากฐานของประชาธิปไตยคือการถ่ายโอนอำนาจโดยสันติ ถ้าไม่มีสิ่งนี้ก็คือ “เบลารุส” การบ่งบอกใดๆว่าประธานาธิบดีอาจไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ทั้งคาดไม่ถึงและยอมรับไม่ได้

การเลือกตั้งปี 2559 ทรัมป์ก็ปฏิเสธที่จะให้คำมั่นว่าจะยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายก็ชนะนางฮิลลารี คลินตัน แห่งพรรคเดโมแครต แม้คลินตันจะได้คะแนนเสียงประชาชนทั่วประเทศเหนือทรัมป์กว่า 3 ล้านเสียง ส่วนการเลือกตั้งปี 2543 ศาลฎีกาเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดให้นายจอร์จ ดับเบิลยู.บุช แห่งพรรครีพับลิกัน ชนะนายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีแห่งพรรคเดโมแครตในรัฐฟลอริดารัฐชี้ขาด ซึ่งมีปัญหาคะแนนสูสีกันมาก นับเป็นครั้งเดียวที่ศาลฎีกาตัดสินชี้ขาดผลการเลือกตั้ง.