ไฟป่า นั้น สามารถทำลายล้างได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศของป่าไม้ แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพลิงไฟที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติก็มีความสำคัญต่อการควบคุมการเจริญเติบโตของพืชและรูปแบบของทุ่งหญ้าประเภทต่างๆ รวมถึงพุ่มไม้ อีกทั้งเป็นส่วนสำคัญในการบำรุงรักษาระบบนิเวศและสนับสนุนสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นจำนวนมาก

หนึ่งในภูมิภาคที่เปรียบเสมือนจุดร้อน บ้างก็เรียกว่า “ทวีปไฟ” ก็คือ ทวีปแอฟริกา เนื่องจากภาพถ่ายดาวเทียมทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าภูมิภาคแห่งนี้เป็นจุดสำคัญของการเกิดไฟเผาไหม้ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วช่วงเดือน ส.ค.มักจะเกิดไฟป่า คิดเป็นอย่างน้อย 70% ของเหตุการณ์ไฟป่าจำนวน 10,000 จุดทั่วโลก และคิดเป็น 50% ของการปล่อยคาร์บอนที่เกี่ยวข้องกับไฟ

แต่หลังจากทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัลบานี ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์การเกิดเพลิงไหม้ในแอฟริกากลางตั้งแต่ปี พ.ศ.2546-2560 โดยอาศัยข้อมูลจากดาวเทียม ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่ถูกเผาลดลงโดยรวมประมาณ 1.3% ต่อปี โดยลดลงทั้งความถี่การเกิดเพลิงไหม้และลดขนาดของไฟซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในทุ่งหญ้าเขตร้อน แต่ก็มีพื้นที่ไหม้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเหนือขอบด้านใต้ของป่าดงดิบในคองโก

จริงๆแล้ว สภาพภูมิอากาศในแอฟริกากลางมีลักษณะการไล่ระดับของฝนที่รุนแรงระหว่างทะเลทรายซาฮารา ที่ต่างรู้กันว่าเป็นทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดและแห้งแล้งที่สุดในโลก ส่วนตรงลุ่มน้ำคองโกที่อยู่ในเขตป่าดงดิบเขตร้อนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จัดเป็นพื้นที่อุดมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและครอบคลุมระบบนิเวศที่ไวต่อไฟป่า ซึ่งมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการกระทำของมนุษย์

การวิจัยเชิงสังเกตครั้งใหม่ของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยอัลบานี นับว่าเป็นประโยชน์ไม่น้อยเพราะการที่ผืนป่าและทุ่งหญ้ามีแนวโน้มถูกเผาไหม้ลดลง สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบใหม่ๆ ต่อระบบนิเวศของแอฟริกา.

...

ภัค เศารยะ

(ภาพประกอบ Credit : Public Domain)