ความสัมพันธ์ “จีน-อินเดีย” สองชาติมหาอำนาจยิ่งใหญ่แห่งเอเชีย ตึงเครียดตลอดช่วงหลายเดือนจากกรณีพิพาทเหนือดินแดน “หลังคาโลก” บนเทือกเขาหิมาลัย
เหตุปะทะกันเรื่องละเมิดดินแดนครั้งล่าสุดเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. แม้ทั้งสองฝ่ายไม่มีใช้อาวุธปืนหรือระเบิดห้ำหั่นกันตามข้อตกลง แต่การบู๊ด้วย “อาวุธอื่นๆ” อินเดียยอมรับทหารเสียชีวิต 20 นาย ส่วนจีนไม่บอกแจ้งความสูญเสีย
ความพยายามเจรจาผ่อนตึงเครียดระหว่างสองประเทศอยู่ระหว่างดำเนินการต่อเนื่องยาวนานที่รัสเซีย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน ส่วนการเจรจาระดับนายทหารบนพื้นที่พิพาทต่างก็เออออกันไปเป็นวันๆ
ถามว่า เหตุปะทะกันระหว่างกองกำลังทั้งสองฝ่ายจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่
คำตอบคือ เกิดขึ้นได้แน่นอน แต่แม้ทั้งสองประเทศต่างพร้อมใช้กำลังเข้าหากันได้ทุกเวลา แต่นั่นไม่ใช่ทางเลือกของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการปะทะแบบจำกัดหรือปะทะอย่างยืดเยื้อ
เหตุผลคือ ช่วงเวลานี้ไม่เหมาะที่มหาอำนาจชาติแห่งเอเชีย จะมามัวทะเลาะกันเรื่องเขตแดน เพราะต่างมีปัญหาใหญ่อื่นสำคัญมากกว่าให้ต้องเร่งรีบแก้ไขเยียวยา
พื้นที่พิพาทบนเทือกเขาหิมาลัยหลังคาโลกช่วงนี้ กำลังย่างเข้าฤดูหนาวอันโหดร้าย ไม่มีใครอยากไปใช้ชีวิตยาวนานที่นั่นยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องสู้รบไปด้วย
และห้วงเวลานี้ อินเดียเผชิญสถานการณ์ระบาดของโคโรนาไวรัส “โควิด-19” รุนแรงมากอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดียพุ่งทะยานขึ้นใกล้ 5 ล้านราย คนตายใกล้ 1 แสนราย อีกทั้งเศรษฐกิจก็ฝืดเคือง ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังอดอยาก
ส่วนจีนก็มีปัญหาขัดแย้งคัดค้านกับสหรัฐฯ ทั้งโดนรุมถล่มเรื่องต้นตอการระบาดของโควิด-19 ผนวกปัญหากับชาติในภูมิภาคเรื่องดินแดนพิพาททะเลจีนใต้ กับปัญหากฎหมายความมั่นคงในฮ่องกงและปัญหาไต้หวันพยายามเคลื่อนไหวแยกเอกราช
...
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน พบเจอกันแล้ว 18 ครั้ง นับตั้งแต่นายโมดีขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้นำอินเดียเมื่อปี 2557 ถือเป็นพัฒนาการความสัมพันธ์อันดียิ่งต่อกัน
ส่วนกรณีพิพาทเหนือดินแดน “หลังคาโลก” บนเส้นเขตแดนระยะทางยาวถึง 3,440 กม. ยืดเยื้อแล้วหลายสิบปี คงไม่สามารถใช้เวลาแก้ปัญหาลุล่วงได้ภายใน 2–3 วัน.
อานุภาพ เงินกระแชง