สมมติฐานเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตนอกโลกเป็นไปได้มากขึ้น หลังนักวิทยาศาสตร์พบแก๊สฟอสฟีน ซึ่งเป็นแก๊สที่ต้องสร้างโดยสิ่งมีชีวิตเท่านั้นบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์
เว็บไซต์ TechCrunch และ Independent รายงานวันที่ 14 ก.ย. 63 ถึงการค้นพบของทีมนักวิทยาศาสตร์จากราชสมาคมดาราศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร (Royal Astronomical Society) ที่ตรวจพบโมเลกุลแก๊สฟอสฟีน (phosphine) บนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ซึ่งแก๊สดังกล่าวไม่สามารถเกิดได้เองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการผลิตของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น
แม้การค้นพบดังกล่าวจะไม่ได้นำไปสู่บทสรุปโดยตรงว่า มีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวศุกร์หรือไม่ แต่การตรวจพบโมเลกุลแก๊สฟอสฟีนบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ถือเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ และทำให้สมมติฐานที่ว่า อาจมีสิ่งมีชีวิตนอกโลกที่อาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์ในระบบสุริยะมีความเป็นไปได้มากขึ้น
...
เอมิลี ดราเบค-มอว์นเดอร์ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทำวิจัยเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทีมวิจัยพยายามสร้างแบบจำลองถึงปรากฏการณ์ต่างๆ บนดาวศุกร์ เช่นการเกิดภูเขาไฟ การเกิดฟ้าแลบ หรือปรากฏการณ์จากแสงอาทิตย์ ก็ไม่พบว่าจะทำให้เกิดแก๊สฟอสฟีน ทำให้ไม่สามารถอธิบายที่มาของแก๊สนี้บนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ได้
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยประเมินถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ที่ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอุณหภูมิ ณ จุดพื้นผิวของดาวศุกร์สูงถึง 900 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 450 องศาเซลเซียส แต่ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่อาจมีสิ่งมีชีวิตที่ไม่ต้องใช้ออกซิเจน (anaerobic microorganisms) อาศัยอยู่บนชั้นบรรยากาศเหนือดาวศุกร์ ซึ่งก็เป็นจุดเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบโมเลกุลแก๊สฟอสฟีน