นักวิทยาศาสตร์ยืนยันการตรวจพบคลื่นแรงโน้มถ่วงสะท้อนมาจากการควบรวมกันของหลุมดำ เมื่อ 7,000 ล้านปีก่อน ซึ่งได้ทำให้เกิด "หลุมดำขนาดกลาง" ที่เพิ่งมีการค้นพบเป็นครั้งแรก

เว็บไซต์ข่าว CNN รายงานเมื่อ 3 ก.ย. 2563 ว่า นักวิทยาศาสตร์ยืนยันการตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงสัญญาณคอสมิกจากห้วงอวกาศ ที่สะท้อนมาถึงโลกเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2562 ว่าเกิดจากการโคจรเข้าใกล้กัน จนเกิดการชน และการควบรวมกันของหลุมดำ 2 แห่ง โดยเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "GW190521" ซึ่งเกิดขึ้นห่างจากโลกไปประมาณ 150,000 ล้านล้านล้านกิโลเมตร (150 billion trillion km.) และคลื่นความโน้มถ่วงต้องใช้เวลาถึง 7,000 ล้านปีในการแผ่ขยายมาถึงโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำอุปกรณ์สังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงไลโก (LIGO) ในสหรัฐฯ และเวียร์โก (VIRGO) ในอิตาลี เปิดเผยว่า นับเป็นการค้นพบว่ามี "หลุมดำขนาดกลาง" (intermediate-mass black hole) เป็นครั้งแรก โดยหลุมดำแรกมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 66 เท่า ส่วนหลุมดำที่ 2 มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 85 เท่า การควบรวมกันของหลุมดำครั้งนี้ทำให้เกิดหลุมดำที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 142 เท่า 

การค้นพบครั้งประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งประกอบด้วยการค้นพบคลื่นแรงโน้มถ่วง ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร "Physical Review Letters" ฉบับวันที่ 1 ก.ย. 2563 และรายละเอียดเหตุการณ์ "GW190521" ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร "Astrophysical Journal Letters" 

ศาสตราจารย์คริสโตเฟอร์ แบร์รี่ แห่งหอสังเกตการณ์ไลโก เปิดเผยว่า หนึ่งในปริศนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการดาราศาสตร์คือคำถามที่ว่า หลุมดำมวลยิ่งยวดก่อกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร โดยการยุบตัวของดาวฤกษ์ทำให้เกิด "หลุมดำมวลดาวฤกษ์" (stellar-mass black hole) ขนาด 1.5-20 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ แต่ "หลุมดำมวลยิ่งยวด" (supermassive black holes) ที่มีขนาดหลายพันเท่าของดวงอาทิตย์ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่ามี "หลุมดำมวลขนาดกลาง" (intermediate-mass black hole) ที่มีขนาดอยู่ระหว่าง หลุมดำมวลดาวฤกษ์ และหลุมดำยิ่งยวดมาตลอด แต่ยังไม่เคยมีการยืนยันได้มาก่อน.

...