1-18 มีนาคม 2563 ผมและคณะเดินทางจากชายแดนไทยไปเมียนมาภาคกลาง แล้วขึ้นเหนือไปจนถึงปูตาโอ เมืองที่อยู่เหนือสุดของแผ่นดินเมียนมาที่มองเห็นเทือกเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะอยู่ในระยะสายตา
ช่วง 18 วันที่ผมอยู่ในเมียนมา โควิด-19 ระบาดรุนแรงในจีน จึงไม่มีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจีนอยู่ในเมืองต่างๆของเมียนมามากนัก สถานที่ต่างๆที่เคยเต็มไปด้วยชาวจีน ในห้วงช่วง 18 วันของเดือนมีนาคมที่ผมได้เห็นด้วยตาตนเองนั้น เงียบเหงาราวกับป่าช้า เสียงโอดโอยโหยหวนของพ่อค้าแม่ขายระงมไปทุกเมือง
การเดินทางไปเยือนครั้งที่แล้ว ผมได้รับ 2019 Myanmar Statistical Yearbook ความหนา 633 หน้า เก็บข้อมูลของประเทศอย่างละเอียดโดยกระทรวงแผนงานและการคลัง ทราบว่าโรงพยาบาลเฉพาะทางของเมียนมามี 33 แห่ง 10,750 เตียง รวมโรงพยาบาลทั่วไปมีทั้งหมด 1,134 แห่ง 59,247 เตียง แพทย์ 17,343 คน ฯลฯ จะว่าไปแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ของเมียนมามีน้อยมากครับเมื่อเทียบกับประชากร 54 ล้านคน
ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มแข็ง ผมกลับมาถึงเมืองไทย ยังต้องไปตรวจเชื้อโควิด-19 และกักตัวเองอยู่ในบ้าน 14 วัน แต่ที่เมียนมาผู้คนยังชิลๆ ตอนนั้นยังมีการคุยกันในหมู่คนที่ไปเยือนเมียนมาว่า ในอนาคตเมียนมาน่าจะมีปัญหาการระบาดรุนแรง เพราะนอกจากระบบการสาธารณสุขและสุขอนามัยทั่วไปแล้ว ความที่ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลอย่างทั่วถึงเป็นอุปสรรคสำคัญ
ข้อมูลวันที่ 2 กันยายน 2563 ตอนนี้เมียนมามีผู้ป่วยโควิด-19 สะสม 919 คน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน แต่ปัญหาของเมียนมาคือไม่ได้มีการตรวจอย่างละเอียด คนที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ทราบตัวเองแล้วก็ตายโดยอ้างสาเหตุอย่างอื่น
...
เส้นแบ่งเขตแดนไทย-เมียนมายาว 2,401 กิโลเมตร มีทั้งร่องน้ำลึก สันปันน้ำ แม่น้ำเมย แม่น้ำสาละวิน ฯลฯ โอกาสที่คนเมียนมาจะข้ามพรมแดนธรรมชาติมีสูง ผมมีไลน์กับผู้ใหญ่ในเมียนมาหลายคน แต่ละคนเล่าถึงสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่รุนแรง ไม่มีนักธุรกิจชาวจีน หน่วยธุรกิจปิดไปเป็นจำนวนมาก ผู้คนตกงาน ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ต่างดิ้นรนไปหางานทำในต่างประเทศ ที่จะอาศัยเดินเท้าข้ามไปมี 5 ประเทศคือ จีน อินเดีย บังกลาเทศ สปป.ลาว และไทย
ที่ชาวเมียนมานิยมเข้าไปทำงานมากที่สุดคือไทย นี่เป็นเรื่องน่ากลัว แรงงานเมียนมาที่อยู่เมืองไทยมานานแล้วไม่มีปัญหา แต่แรงงานที่จะเข้ามาใหม่อย่างไม่ถูกต้อง เป็นสิ่งอันตรายมาก ถ้าไม่ป้องกันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู โอกาสที่โควิด-19 จะเข้ามาระบาดในไทยมีสูง
ประเทศไทยเองก็มีปัญหาด้านแรงงานไม่พอ ร้านรวงและเรือกสวนไร่นาต่างร้องโอดโอยโหยหวนเรื่องหาแรงงานไม่ได้ แรงงานเมียนมาบางส่วนเริ่มโก่งค่าแรง เดี๋ยวนี้บางแห่งจ้างกัน 15,000-20,000 บาทต่อเดือนแล้วครับ ยอมเสียค่าจ้างสูง ดีกว่าปล่อยให้ธุรกิจเจ๊ง
นี่คือปัญหาเรื่องแรงงานในระดับชาติ เมื่อก่อนเรากลัวว่า แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจะกลับไปบ้านเมืองตนเองเพราะจีนมาลงทุนและต้องใช้แรงงานจำนวนมาก แต่ปัญหาอันดับหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงในตอนนี้กลับเป็นเรื่องการระบาดของโควิด-19
ทัศนคติด้านการทำงานที่คนไทยปลูกฝังกันมาแต่อดีตคือต้องการรับราชการ ต้องเป็นเจ้าคนนายคน และทัศนคติที่ผิดอย่างร้ายแรงก็คือ การคิดว่างานที่ชาวเมียนมา ลาว กัมพูชา ฯลฯ ทำ เป็นงานที่คนไทยไม่ควรลดตัวลงไปทำ เมื่อสอนกันมาอย่างนี้ แม้ว่าจะตกงานจนตนและครอบครัวไม่มีอะไรจะกิน แต่จำนวนไม่น้อยก็ยังไม่ยอมทำงานที่ตัวเองคิดว่าเป็นงานที่ต่ำต้อยด้อยค่า
ตอนนี้หลายภาคส่วนต้องการแรงงานทดแทน แต่ไม่มีคนทำ ปัญหาระยะยาวคือ การต้องเปลี่ยนทัศนคติในการทำงานทุกประเภทของคนไทยบางกลุ่มเสียใหม่ ส่วนปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ด่วนคือการระบาดของโควิด-19 ที่จะมาจากแรงงานฝั่งเมียนมา.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com