แต่ละปีโลกเผชิญกับขยะอาหารกว่า 1,300,000 ล้านกิโลกรัม ขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 50,000 ล้านกิโลกรัม นักวิจัยจึงพยายามหาแนวทางนำขยะเหลือทิ้งมาแปลงให้เป็นทรัพยากรใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมวาดหวังว่าจะไม่มีขยะเหลือทิ้ง อีกทั้งทรัพยากรที่ได้มาใหม่ก็จะใช้งานได้นาน

แต่ทุกวันนี้กระบวนการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์จากอุตสาหกรรมใช้พลังงานมากแถมยังปล่อยมลพิษปล่อยของเสียที่เป็นอันตราย จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะหาวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ล่าสุด ทีมวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานยาง ในสิงคโปร์ แจ้งข่าวดีว่าได้ใช้เปลือกส้มมาสกัดและกู้คืนโลหะมีค่าจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้แล้ว กุญแจสำคัญอยู่ที่เซลลูโลสที่พบในเปลือกส้มซึ่งจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลภายใต้ความร้อนระหว่างกระบวนการสกัดน้ำตาล จะช่วยเพิ่มการฟื้นตัวของโลหะมีค่าจากขยะแบตเตอรี่ สารต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และพบในเปลือกส้ม เช่น ฟลาโวนอยด์และกรดฟีนอลิก อาจมีส่วนในการเพิ่มประสิทธิภาพดังกล่าว ทำให้สร้างแบตเตอรี่ใหม่ ได้จากโลหะมีค่าที่กู้คืนมา ทั้งนี้ แบตเตอรี่เก่าจะนำไปผ่านกระบวนการให้ความร้อนสูงกว่า 500 องศาเซลเซียสเพื่อหลอมโลหะมีค่าที่ปล่อยก๊าซพิษเป็นอันตราย

การดึงโลหะมีค่าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งทุกชนิด กำลังกลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง การคิดค้นวิธีใหม่นี้ไม่เพียงจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร แนวทางนี้ยังมีต้นทุนต่ำและยั่งยืน ที่สำคัญคือจะช่วยจัดการปัญหาขยะอิเล็ก-ทรอนิกส์และการสะสมของเสียจากอาหารอันเป็นวิกฤติหนึ่งของโลก.

Credit : NTU Singapore