หมอในสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องให้ประชาคมแพทย์และนักวิจัย ให้ความสำคัญกับการศึกษาอาการป่วยระยะยาว ที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 เนื่องจากมีคนไข้หลายรายยังไม่หายดี แม้ร่างกายไม่มีไวรัสแล้ว

สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ดร. วิลเลียม ลี หมอในสหรัฐฯ ซึ่งกำลังศึกษาเรื่องอาการป่วยระยะยาวที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 กล่าวว่า ประเด็นนี้ควรเป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันในประชาคมแพทย์และนักวิจัย ไม่ใช่พูดกันเพียงในกลุ่มผู้ป่วยที่กำลังทุกข์ทรมานจากโรค

ดร.ลี บอกกับ ซีเอ็นเอ็น ว่า มีคนไข้หลายรายที่ยังคงแสดงอาการป่วย แม้จะผ่านมานานมากแล้วหลังจากที่พวกเขาถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา สอดคล้องกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐฯ ที่ยืนยันเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า โควิด-19 อาจเป็นอาการป่วยระยะยาวได้ แม้แต่ในกลุ่มผู้ใหญ่อายุน้อยที่ไม่มีโรคประจำตัว

ผลการสำรวจผู้ป่วยโควิด-19 ของ ซีดีซี พบด้วยว่า คนไข้ 37% ยังไม่กลับไปมีสุขภาพดีดังเดิมแม้ว่าจะผ่านไป 2-3 สัปดาห์ หลังจากตรวจพบว่าติดเชื้อ ส่วนที่เหลือระบุว่า กลับไปแข็งแรง หลังจากผ่านไป 5-12 วัน

ซีเอ็นเอ็นยังได้สัมภาษณ์ นางเชลบี เฮดจ์ค็อค อดีตเทรนเนอร์ส่วนตัว ที่ตรวจพบว่าติดโควิดตั้งแต่เดือนเมษายน และตรวจไม่พบเชื้อแล้วในเดือนพฤษภาคม โดยเธอเปิดเผยว่า เธอยังมีอาการด้านระบบประสาท, กระบวนการรับรู้, หายใจสั้น, เจ็บหน้าอก, เสียประสาทรับกลิ่น และปวดตามร่างกาย ถึงขั้นต้องนอนพักหลายวันหลังจากเล่นโยคะเบาๆ

ดร.ลี กล่าวว่า อาการที่นางเฮดจ์ค็อคเป็น ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเธอเท่านั้น โดยทีมของเขากำลังหาความเชื่อมโยงระหว่างอาการดังกล่าว โดยข้อมูลชี้ว่า ไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อปอดเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อหลอดเลือดที่เชื่อมต่อทั่วร่างกายด้วย ทำให้พวกเขาเชื่อว่า อาการป่วยนี้อาจเกี่ยวข้องกับหลอดเลือดที่เสียหาย คล้ายกับเป็นรอยเท้าที่ไวรัสเหลือทิ้งไว้ หลังจากมันจากไปแล้ว

...

จนถึงตอนนี้ ยังมีเรื่องอีกมากที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ยังไม่รู้เกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย พวกเขายังไม่อาจบอกได้ว่า คนไข้อย่างนางเฮดจ์ค็อคจะหายดีหรือไม่อย่างไร ซึ่ง ดร.ลี เรียกร้องให้ประชาคมแพทย์จริงจังกับเรื่องนี้ และเริ่มการสังเกตกับเก็บข้อมูลต่างๆ เดี๋ยวนี้