เคยมีคนเปรียบเปรยว่าไข่ไดโนเสาร์ก็เหมือนแคปซูลกาลเวลาที่ช่วยไขความลับยุคโบราณ อย่างเมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลตัวอ่อนไดโนเสาร์ในรังขนาดมหึมาของไดโนเสาร์กลุ่มไททันโนซอร์ ที่มีชีวิตอยู่ช่วง 80 ล้านปีก่อน ในพื้นที่อูกามาอูโว ของภูมิภาคปาตาโกเนีย ในอาร์เจนตินา ล่าสุด ทีมวิจัยนำโดยนักบรรพชีวินวิทยาจาก Paleo-BioImaging Lab แห่งมหาวิทยาลัยปาโวลโยเซฟ ซาฟาริค ในสโลวัก ศึกษาซากฟอสซิลนี้จนพบคำตอบใหม่ๆที่ไม่คาดคิด
จากการศึกษากะโหลกศีรษะตัวอ่อนเกือบสมบูรณ์ โดยใช้เทคโนโลยี synchrotron microtomography ถ่ายภาพแบบ 3 มิติโครงสร้างภายในของกระดูกฟันและเนื้อเยื่ออ่อนของตัวอ่อน การสแกนช่วยให้ทีมสามารถสร้างลักษณะที่เป็นไปได้มากที่สุดของกะโหลกศีรษะตัวอ่อนซอโรพอดขนาดยักษ์ ก่อนที่มันจะฟักออกมา ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าทารกซอโรพอด อาจฟักออกจากไข่ด้วยการใช้แคลเซียมที่สะสมในเปลือกไข่มานาน ก่อนที่พวกมันจะลืมตามาดูโลก
สิ่งที่ไม่คาดคิดก็คือพบว่าทารกของซอโรพอดที่เป็นไททันโนซอร์ มีหงอนเดี่ยวงอกบนใบหน้า ช่องเปิดที่จมูกก็หด แถมยังมองเห็นแบบ 2 ตาในระยะแรก บ่งบอกว่าทารกซอโรพอดจะเปลี่ยนรูปศีรษะและใบหน้าเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทีมวิจัยเผยว่า การค้นพบดังกล่าวมีผลต่อความเข้าใจเกี่ยวกับไดโนเสาร์และการดำรงชีวิตของพวกมัน โดยเฉพาะมีประโยชน์ต่อการเปรียบเทียบอนุกรมวิธานหรือพัฒนาการระหว่างไดโนเสาร์ที่เกี่ยวข้อง.
Credit : Kundrat et al. /Current Biology