ผ้าไหมเป็นวัสดุที่มีประวัติในการใช้งานทางการแพทย์มายาวนาน ในบันทึกของแพทย์สมัยโบราณย้อนกลับไปเมื่อ 2,000 ปีก่อน บ่งบอกว่ามีการใช้เส้นไหมเย็บแผลผู้ป่วย จวบจนยุคปัจจุบันศัลยแพทย์ก็ยังใช้เส้นไหมไม่ต่างจากอดีต งานด้านชีวการแพทย์หรือชีวเวชก็ถือว่าแผ่นไหมมีศักยภาพที่ดีต่อการใช้งานกับร่างกายมนุษย์ อีกทั้งย่อยสลายและดูดซับได้


นักวิจัยพยายามพัฒนาไหมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ล่าสุด ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเป่ยหาง ในจีน ก็คิดวิธีสร้างเส้นใยไหมที่เหนียวและละเอียดขึ้นใหม่ โดยใช้ไหมจากไหมหม่อน (Bombyx mori) เป็นชนิดไหมที่หาได้ทั่วไป รวมกับเส้นใยที่มีความทนทานและยืดหยุ่นมากขึ้นจากไหมป่าพันธุ์จีนชื่อ Antheraea pernyi มาผสมผสานกับโพลีเมอร์สังเคราะห์ เพื่อพัฒนาวัสดุผสมที่ฝังปลูกในร่างกายได้ ทีมเน้นไปที่แผ่นสานใยไหมที่ทอจากด้ายยาวๆเพียงเส้นเดียว ซึ่งรังไหมของหนอนไหมมีเส้นใยยาวเกือบ 1,524 เมตร และเมื่อใช้งานเนื้อผ้าไหมทั้งผืน เส้นใยก็จะกระจายความเครียดเชิงกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทีมพบว่าคุณสมบัติของวัสดุใหม่ดังกล่าวทำให้เข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อภายในร่างกายมนุษย์มากกว่าวัสดุที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ พวกเขาเตรียมร่วมมือกับแพทย์ด้านกระดูกเพื่อประดิษฐ์โครงสร้างคล้ายโครงกระดูกที่ยึดกระดูกสันหลังไว้ชั่วคราว ความทนทานของไหมที่ประกอบขึ้นใหม่นี้เข้ากันได้กับกระดูกทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น แถมสะดวกสบายกว่าโครงสร้างโลหะแบบที่เคยใช้กัน อย่างไรก็ตาม ทีมเผยว่าภายในร่างกายมนุษย์มีความชื้น และน้ำในร่างกายจะทำให้เส้นไหมอ่อนตัวลง ซึ่งนี่คือโจทย์ที่ท้าทายการแก้ปัญหา.

...

(ภาพประกอบ Credit : Jiao Wen & Juan Guan)