เมื่อเร็วๆนี้มีการศึกษาจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย ในอังกฤษ เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันของวาฬหัวทุยหรือวาฬสเปิร์มที่อาศัยในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ ทีมวิจัยอาศัยหุ่นยนต์ขับเคลื่อนอิสระใต้น้ำ ซึ่งติดตั้งจอภาพเพื่อบันทึกเสียงของวาฬสเปิร์มในมหาสมุทรเป็นเวลาหลายเดือน ในระยะทาง 1,000 กิโลเมตร
เป็นที่รู้กันมานานว่าวาฬสเปิร์มจะใช้เสียงเป็นสัญญาณบอกตำแหน่งการเคลื่อนไหว โดยเสียงที่เปล่งออกจะมีลักษณะเป็นเสียง “คลิก” ทว่าเสียงคลิกจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะระบุตำแหน่งและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของวาฬ นักวิจัยเผยว่าการบันทึกเสียงคลิกของวาฬสเปิร์ม ช่วยยืนยันการปรากฏตัวของวาฬชนิดนี้อย่างกว้างขวางในทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และสามารถระบุจุดที่เป็นไปได้สำหรับที่อยู่อาศัยของวาฬสเปิร์มในอ่าวสิงโต ที่พบว่ามีอัตราของเสียงคลิกที่สูงขึ้น
ทีมวิจัยเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงจำนวนวาฬสเปิร์มที่สูงขึ้น และอาจชี้ให้เห็นว่าวาฬมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการหาอาหารตามปกติได้ตลอดเวลา เพื่อปรับให้เข้ากับความพร้อมของเหยื่อในท้องถิ่น มีข้อมูลว่าวาฬสเปิร์มเมดิเตอร์เรเนียนที่โตเต็มวัยมีจำนวนน้อยกว่า 2,500 ตัว และภัยคุกคามก็คืออวนจับปลา การประมงที่ผิดกฎหมาย อันตรายจากเรือ การกลืนกินขยะในทะเล และเสียงรบกวนที่มาจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การตามดูวาฬนั่นเอง.
(ภาพประกอบ Credit : Adrian J Matthews)