นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้หญิงได้เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยก่อนหน้าที่จะเป็นคามาลา แฮร์ริส ยังมีผู้หญิงอีก 3 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประวัติและเรื่องราวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ทั้งโลกได้จับจ้องไปที่นายโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จากพรรคเดโมแครต ที่ประกาศคู่เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี หรือ Running Mate เป็นนางคามาลา แฮร์ริส สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐแคลิฟอร์เนีย เชื้อสายอินเดีย-จาเมกา ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมาย
การประกาศครั้งนี้ถือว่าพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งสหรัฐฯ เนื่องจากนางแฮร์ริส เป็นหญิงผิวสีเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในรอบ 244 ปี ของแดนลุงแซม แต่เธอไม่ใช่สตรีคนแรกที่เข้าชิงตำแหน่งดังกล่าว
คามาลา แฮร์ริส คือใคร
น.ส.แฮร์ริส วัย 55 ปี ได้โลดแล่นในการเมืองอเมริกันมายาวนาน เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยฮาวเวิร์ด (Howard University) และปริญญาด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 2017 เธอได้ก้าวขึ้นเป็น วุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนีย เธอเป็นหญิงผิวสีเชื้อสายเอเชียใต้คนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
...
หลายฝ่ายมองว่าการที่นาย ไบเดน เลือกเธอมาเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีนั้นเปรียบเสมือนใบเบิกทางที่จะทำให้ชาวผิวสีในสหรัฐฯเทคะแนนเสียงให้เขามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นเวทีของชาวผิวขาว นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่ทั่วโลกลุกฮือขึ้นเรียกร้องความเท่าเทียมจากปรากฏการณ์ Black Lives Matter ในเมืองใหญ่ทั่วโลก
นอกจากนี้ นางแฮร์ริส ยังถูกมองว่าเป็นทายาททางการเมือง เนื่องจากหากนายไบเดน ชนะนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีปัจจุบัน และขึ้นรับตำแหน่งได้ เขาจะมีอายุ 78 ปี ในวันเข้ารับตำแหน่ง และยังไม่มีความชัดเจนว่าเขาจะลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่สองหรือไม่ ซึ่งไม่แปลกที่เดโมแครตจะวางตัวให้นางแฮร์ริส ก้าวขึ้นมาแทนนายไบเดน ในอนาคต
อเมริกันแดนเสรี แต่สตรีไม่ได้ที่นั่งทางการเมืองเท่าที่ควร
“หญิงผิวสีไม่ใช่แค่ผู้ลงคะแนนที่ภักดีต่อพรรคเดโมแครตมากที่สุด พวกเราเป็นกุญแจที่จะจุดประกายผู้ลงคะแนนเสียงผิวสีทุกเพศทุกวัยให้เข้าลงคะแนนเป็นจำนวนมาก” กลุ่มสตรีผิวสีได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายไบเดน เพื่อเรียกร้องให้เขาเลือกสตรีผิวสีเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดี
เว็บไซต์ วอชิงตันโพสต์ รายงาน ถึงแม้เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งร้อยปี ที่สตรีอเมริกันมีสิทธิที่จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่สตรีกลับยังไม่ได้รับโอกาสทางการเมืองเท่าที่ควร โดยเฉพาะสตรีผิวสีที่มีจำนวนมากราว 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรในสหรัฐฯ แต่กลับมีตัวเลขในการรับเลือกให้รับตำแหน่งสำคัญน้อยกว่าที่ควร
ข้อมูลเชิงสถิติพบว่า 18 รัฐในสหรัฐฯ ไม่เคยส่งผู้สมัครหญิงเป็นวุฒิสมาชิก และมี 20 รัฐไม่เคยมีผู้ว่าการรัฐเป็นผู้หญิงมาก่อน ซึ่งจากจำนวนวุฒิสมาชิกทั้งหมด 100 คน มี ส.ว. หญิงเพียง 26 คนเท่านั้น นอกจากนี้ในจำนวนผู้ว่าการรัฐเพศหญิง มีเพียงนางมิเชล ลูจัน กริสแฮม (Michelle Lujan Grisham) คนเดียวเท่านั้นที่เป็นสตรีผิวสี
'เฟอร์ราโร' สตรีคนแรกเข้าชิง รอง ปธน. แต่กลุ่มชายผิวขาวต่อต้าน
(ภาพประกอบจากเว็บไซต์: ไทม์)
เดือนกรกฎาคมปี 1984 นิตยสาร ไทม์ ได้พาดหัวข่าว “การเลือกครั้งประวัติศาสตร์” หลังจากที่นายวอลเตอร์ มอนเดล (Walter Mondale) ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ประกาศให้นางเจอรัลดีน เฟอร์ราโร (Geraldine Ferraro) เป็นคู่ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี โดยคาดว่าจะสามารถเรียกคะแนนเสียงจากสตรีอเมริกัน, กลุ่มชาติพันธุ์ในสหรัฐฯ และคนเมืองได้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกสตรีเข้าชิงรองประธานาธิบดีในครั้งนั้น ได้ทำให้แคมเปญหาเสียงของนาย มอลเดล ดูมีชีวิตชีวาและยังเป็นการหนุนให้การเคลื่อนไหวของสตรีในยุคนั้นมีพลังมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสนับสนุนให้สตรีขึ้นเป็นรองประธานาธิบดี
...
“สตรีคนแรกที่เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไซส์ 6”
นี่เป็นประโยคที่ผู้ประกาศชายในที่ประชุมใหญ่เมื่อปี 1984 ใช้แนะนำนางเจอรัลดีน เฟอร์ราโร สตรีคนแรกที่ได้รับเลือกให้เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเปิดตัวของสตรีผู้เข้าชิงรองประธานาธิบดีไม่ได้ถูกจับจ้องไปที่ลีลาวาทะการปราศรัยนโยบายการเมือง แต่กลับเป็นรูปร่างและไซส์ชุดเดรสของเธอ แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่นางเฟอร์ราโร ต้องเผชิญกับประโยคที่ตั้งแง่ต่อสตรีเพศและยังติดอยู่กับภาพลักษณ์ภายนอก
“สาวน้อย คุณอบมัฟฟินบลูเบอร์รีเป็นรึเปล่า”
ชาวไร่คนหนึ่งตะโกนถามเธอขณะที่เดินสายหาเสียงใน รัฐมิสซิสซิปปี ซึ่งนายมอนเดล เผยว่าการเหมารวมภาพลักษณ์ของเพศหญิงเป็นสิ่งที่คู่ชิงรองประธานาธิบดีของเขาพยายามเปลี่ยนแปลงและปฏิวัติมาตลอด
...
ด้านนางเฟอร์ราโร ไม่ย่อท้อต่อกลุ่มที่ต่อต้านเธอ โดยระบุว่าคนเรามักมีความกังวลเมื่อทำสิ่งต่างๆ เป็นครั้งแรก นี่เป็นครั้งแรกที่มีการเข้าชิงรองประธานาธิบดีเพศหญิง ทำให้เกิดความกังวลแต่เธอเชื่อว่าจะสามารถขจัดความกังวลนั้นไปได้เร็วที่สุด เธอให้สัมภาษณ์หลังมีผลสำรวจชี้ว่าเกิดการต่อต้านผู้เข้าชิงประธานาธิบดีหญิงในกลุ่มชายผิวขาวทางตอนใต้ของประเทศ
เป็นที่น่าเสียดายที่หลังจากนั้นไม่นานสามีของเธอถูกมองว่าปกปิดการจ่ายภาษี และเธอยังไม่มีประสบการณ์ด้านต่างประเทศที่มากพอ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้คะแนนนิยมของเธอลดลง จนท้ายที่สุดเดโมแครตได้แพ้การเลือกตั้งในครั้งนั้น
นางเจอรัลดีน เฟอร์ราโร เสียชีวิตในปี 2011 ด้วยวัย 75 ปี หลังการเสียชีวิตของเธอ นิตยสาร ไทม์ ได้เผยแพร่ข้อความว่าน้อยคนจะจดจำเธอในฐานะที่เธอแพ้การเลือกตั้ง แต่ผู้คนจะจดจำสตรีผู้นี้ที่เข้าชิงรองประธานาธิบดีในปี 1984 เป็นแรงผลักดันให้สตรีคนอื่นๆ เข้าสู่เส้นชัย
...
สตรีคนแรกที่มีบทบาททางการเมืองสหรัฐฯ คนนี้ยังเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของนางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกด้วย
“(เจอรัลดีน) ได้เปิดทางการก้าวเข้าสู่เส้นทางทางการเมืองของฉัน และสตรีอีกหลายคน เราเป็นหนี้เธอ เธอได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กผู้หญิงทั้งหลาย พวกเราทุกคนเปลี่ยนความคิดและจินตนาการถึงความเป็นไปได้ต่างๆ เพราะเจอร์รี่” นางฮิลลารี คลินตัน กล่าวถึงนางเจอรัลดีน
ซาร่า เพลิน ผู้เข้าชิงรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของริพับลิกัน
ต่อมาในปี 2008 นายจอห์น แมคเคน ผู้ลงสมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปีดังกล่าวได้ประกาศให้นางซาร่า เพลิน ผู้ว่าการรัฐอะแลสกา เป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งนางเพลิน ถือเป็นสตรีคนแรกจากพรรคลิพับลิกันที่เข้าชิงตำแหน่งดังกล่าว เธอเปิดตัวด้วยภาพลักษณ์คุณแม่สมัยใหม่และเป็นที่รู้จักในเวลาไม่นาน แต่หลังจากนั้นกลับมีข่าวแง่ลบออกมาไม่ว่าจะเป็นลูกสาววัย 17 ของเธอที่ตั้งครรภ์ และยังถูกเพ่งเล็งว่าใช้อำนาจในทางมิชอบ พร้อมทั้งมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดจริยธรรมด้วย ซึ่งหลังจากก้าวลงจากเวทีการเมืองนาง เพลิน เป็นนักพูดที่ประสบความสำเร็จและได้รับค่าจ้างมหาศาล นอกจากนี้หนังสือชีวประวัติของเธอยังขายได้กว่าล้านเล่ม
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 63 ที่ผ่านมา สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่านางเพลิน ได้กล่าวถึงนางแฮร์ริส ผู้เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนล่าสุดโดยเธอระบุว่า เธอหวังว่าสื่อจะไม่ปฏิบัติต่อนางแฮร์ริส อย่างรุนแรงอย่างที่เธอเคยเผชิญ หลังจากนี้คงต้องจับตาดูว่านางแฮร์ริส สตรีคนที่ 3 ที่เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจะสามารถสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง โดยการขึ้นเป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ได้หรือไม่.
ผู้เขียน: ปานฝัน
ที่มา: The Guardian , Washington Post , Politico , CNN , BBC , Time , CNN