ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากยอดผู้ป่วยสะสมทั่วโลกจะมีจำนวนมากแล้ว ยังมีอีกสิ่งที่‘ระบาด’หนักไม่แพ้กัน นั่นคือข่าวปลอมที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก
สำนักข่าวบีบีซีได้แบ่งประเภทของข่าวปลอม หรือเฟกนิวส์ (Fake News) เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ข่าวปลอมที่ถูกสร้างหรือประกอบขึ้นเพื่อสร้างความสับสนหรือสร้างความเชื่อแบบผิดๆให้กับผู้รับสาร ด้วยการใช้ข้อมูลที่โกหก ข้อมูลที่หลอกลวง หรือทฤษฎีสมคบคิด แม้ผู้เขียนจะทราบอยู่แล้วก็ตามว่าข้อมูลที่นำมาใช้เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ส่วนอีกประเภทคือข้อมูลที่มีความจริงอยู่บ้าง แต่มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือข้อมูลเท็จปนอยู่ด้วย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากความไม่ระมัดระวังของผู้เขียน
การเผยแพร่ข่าวปลอมสามารถสร้างปัญหาให้กับสังคมได้ เนื่องจากจะทำให้ผู้ที่ได้อ่านบทความหรือข่าวเกิดความเข้าใจผิด สับสน หรือเกิดความหวาดกลัว ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวสามารถชักนำไปสู่เหตุความรุนแรงหรือความวุ่นวายได้ นอกจากนี้หากมีการแชร์ข้อความที่เป็นข่าวปลอมต่อกันเป็นจำนวนมาก อาจจะทำให้ "ข่าวปลอม" กลายเป็น "ข่าวจริง"
ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนข่าวปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ได้ผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กได้รายงานว่าพวกเขาได้ลบโพสต์ที่เป็นข่าวปลอมไปแล้วอย่างน้อย 7 ล้านกว่าโพสต์ พร้อมติดป้ายเตือนอีก 98 ล้านโพสต์ว่ามีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ถูกเผยแพร่ออกไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ทางผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์พยายามสกัดข่าวปลอม แต่ข้อมูลจากสำนักข่าวบีบีซียังพบว่ามีชาวอเมริกันเกือบ 6,000 คนต้องเข้าโรงพยาบาลจากการทำตามข้อแนะนำของข่าวปลอม
ยาต้านมาลาเรียกับความเสี่ยงตายที่เพิ่มขึ้น
...
หนึ่งในกรณีของเฟกนิวส์ที่มีผู้คนพูดถึงมากที่สุดในโลก คงหนีไม่พ้นกรณีของยาต้านมาลาเรีย “ไฮดรอกซีคลอโรควิน” ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลังจากที่พวกเขาเชื่อว่ายาชนิดดังกล่าสามารถป้องกันจากโรคโควิด-19ได้ ซึ่งยาชนิดนี้ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิลได้ระบุว่าพวกเขาต่างทานยาชนิดนี้อยู่ แถมผู้นำสหรัฐฯยังได้ให้คำแนะนำให้ประชาชนทานยาชนิดนี้ด้วย เนื่องจากเขาเชื่อว่ายาชนิดนี้สามารถต่อสู้กับโรคโควิด-19ได้
คำแนะนำจากผู้นำประเทศได้สร้างความเข้าใจผิดให้กับคู่สามีภรรยาคู่หนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมียา “คลอโรควิน” ที่ใช้รักษาปลาคาร์ฟอยู่ และแม้ว่าพวกเขาจะไม่มีอาการป่วยโควิด-19 แต่ด้วยความกลัวทำให้สองสามีภรรยาคู่นี้ดื่มคลอโรควินจำนวนหนึ่งช้อนชาผสมกับโซดาเข้าไป ส่งผลให้ภรรยาเริ่มอาเจียนอย่างรุนแรง ส่วนสามีหายใจไม่ออก จนต้องเรียกรถพยาบาลมารับตัวของพวกเขาส่งโรงพยาบาล ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่จะสามารถช่วยชีวิตภรรยาไว้ได้ แต่สามีของเธอเสียชีวิตสลดจากเหตุการณ์ครั้งนี้
นอกจากในสหรัฐอเมริกาแล้วเหตุวุ่นวายยังเกิดขึ้นในประเทศไนจีเรียเช่นเดียวกัน โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่ามีรายงานผู้ได้รับสารพิษจากการกิน “ไฮดรอกซีคลอโรควิน” มากเกินขนาด ขณะที่ในเวียดนามมีรายงานว่ามีชายคนหนึ่งทานยาชนิดนี้เป็นจำนวนมาก จนทำให้ตัวแดง ตัวสั่น และสายตาพร่ามัว เคราะห์ดีที่แพทย์สามารถช่วยเขาได้ทัน มิเช่นนั้นเขาอาจจะเสียชีวิตได้
ขณะนี้องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ระงับการทดลองใช้ยาชนิดนี้ไว้แล้ว หลังผลการทดลองพบว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับยาชนิดดังกล่าวมีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 18 ถือเป็นจำนวนที่มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยาชนิดนี้ถึง 2 เท่า โดยเจ้าหน้าที่แพทย์ที่ดูผลวิจัยระบุว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจ เช่นหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่มาพร้อมกับยาชนิดดังกล่าว ซึ่งนอกจากหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้ว, สายตาพร่ามัว, วิงเวียนศีรษะ และอาเจียนก็เป็นอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยเหมือนกัน
ขณะที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศในภายหลังว่าเขาได้หยุดรับประทาน “ไฮดรอกซีคลอโรควิน” แล้ว พร้อมกล่าวตบท้ายว่าเขาทานยาชนิดนี้ตลอดสองสัปดาห์ แต่เขาก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ
ข่าวลือวิธีรักษาโรคโควิด-19
...
ยาต้านมาลาเรียไม่ใช่ข่าวปลอมหรือข่าวลือเดียวที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพราะยังมีการกล่าวอ้างสรรพคุณของอาหารชนิดต่างๆ ว่าสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้ เช่น ใส่พริกไทยลงไปในอาหารจะช่วยป้องกันเชื้อไวรัส, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยสกัดโรคโควิดได้, กระเทียมมีสารต้านจุลชีพป้องกันโรคโควิด หรือการดื่มยาฆ่าเชื้อหรือยาทำความสะอาดช่วยฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้รวบรวมข่าวลือดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องจริง และบางอย่างอาจจะทำให้ผู้ที่รับประทานเข้าไปมีอันตรายมากกว่าเดิม ซึ่งนอกจากเรื่องการกินแล้ว ทางองค์การอนามัยโลกยังได้ออกมาเตือนอีกว่าการอาบรังสียูวี (UV), การอาบน้ำร้อน, การใช้ที่เป่าผม ไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้
อีกกรณีที่น่าสนใจ เกิดขึ้นที่อินเดียเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม โดยมีชาวอินเดีย 12 คนต้องถูกหามตัวส่งโรงพยาบาล หลังจากที่พวกเขาทานเมล็ดของต้นลำโพงเข้าไป เพราะพวกเขาได้ยินคำแนะนำดังกล่าวจากในแอพพลิเคชั่นติ๊กต๊อก (TikTok) ว่าเมล็ดต้นลำโพงสามารถป้องกันโควิดได้ พวกเขาจึงไปเก็บเมล็ดมาและนำมาบดเป็นน้ำ ก่อนจะดื่มเข้าไปก่อนมื้อเช้า และเมื่อถึงช่วงบ่าย พวกเขาก็มีอาการอาเจียนอย่างรุนแรง จนทำให้เพื่อนบ้านต้องนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์กล่าวว่าเมล็ดต้นลำโพงเป็นพิษและมีผลกับระบบประสาทและระบบย่อยอาหาร ยังเคราะห์ดีไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้
5G กับทฤษฎีสมคบคิดที่สร้างผลกระทบกับพนักงาน
...
อีกหนึ่งกรณีที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสมคบคิด ที่ระบุว่าคลื่นอินเทอร์เน็ต 5จี (5G) เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนสร้างความโกรธแค้นให้กับผู้ที่เชื่อข่าวปลอมดังกล่าว โดยพวกเขาเชื่อว่าเสาสัญญาณจะหยุดระบบภูมิคุ้มกันจนทำให้ร่างกายอ่อนแอหรือคลื่นสัญญาณ 5G เป็นตัวแพร่เชื้อโดยตรง ซึ่งเว็บไซต์เดอะ การ์เดียนระบุว่าในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่โทรคมนาคมในสหราชอาณาจักรถูกรังควานกว่า 50 ครั้ง ทั้งถ่มน้ำลาย, ด่าทอ และ ถึงขั้นทำร้ายร่างกาย
นายไมเคิล ดี (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่โทรคมนาคมได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวการ์เดียนว่าในช่วงเวลาปกติเขาเจอกับลูกค้าที่มีปัญหาอยู่บ้าง แต่นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พวกเขาก็ต้องเผชิญกับการรังควานอย่างที่พวกเขาไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งนายไมเคิลระบุว่าในช่วงต้นเดือนเมษายนเขาเจอลูกค้าด่าทอถึง 3 ครั้งในสัปดาห์เดียว แถมยังโดนถ่มน้ำลายใส่หน้าจนทำให้เขาต้องกักตัวสองสัปดาห์
นอกจากพนักงานที่ได้รับผลกระทบแล้ว มีรายงานว่าเสาส่งคลื่น 5G อย่างน้อย 77 ต้นถูกเผา และไม่ใช่แค่สหราชอาณาจักรที่เดียว เพราะที่ประเทศแคนาดาก็มีเสาสัญญาณถูกเผาอย่างน้อย 7 ต้น แต่ทั้ง 7 ต้นเป็นเพียงเสาโทรศัพท์ธรรมดา หรืออย่างที่ออสเตรเลียก็มีรายงานเสาอากาศ 5G อย่างน้อย 1 ต้นถูกเผาเช่นเดียวกัน
...
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของความวุ่นวายที่เกิดจากความเข้าใจผิด และการได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ในช่วงที่ทุกคนยังคงกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังมีข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคงหลั่งไหลท่วมท้นในโลกออนไลน์เวลานี้ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ผู้รับสารที่ต้องชั่งน้ำหนักและไตร่ตรองก่อนรับข้อมูล รวมทั้งต้องเลือกรับข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เพื่อไม่ให้จมอยู่ท่ามกลางวังวนของข่าวปลอม
ผู้เขียน : จอน
ที่มา : BBC, WHO, เดอะ การ์เดียน