รอสคอสมอสของรัสเซียเพิ่งประกาศแผนว่าจะหวนกลับไปสำรวจดาวศุกร์ไปหมาดๆ ซึ่งหน่วยงานอวกาศของดินแดนหลังม่านเหล็กเชื่อว่าการสำรวจดาวอังคารอย่างละเอียด จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกหรือไคลเมต เชนจ์ (Climate Change) ที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกในทุกวันนี้ เนื่องจากชั้นบรรยากาศที่มีเมฆมากของดาวศุกร์ ประกอบไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนใหญ่ และมีเมฆที่เกิดจากหยดของกรดซัลฟิวริก (sulphuric acid) หรือกรดกำมะถัน
ทว่าเมื่อเร็วๆนี้นักวิทยาศาสตร์จากองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่นหรือแจ็กซา (JAXA) ได้ค้นพบการหยุดชะงักของชั้นบรรยากาศที่มีเมฆยักษ์บนดาวศุกร์อย่างที่ไม่เคยเห็นในที่อื่นๆ ในระบบสุริยะของเรา และไม่เคยสังเกตเห็นมาเป็นเวลาอย่างน้อย 35 ปี ทีมเผยว่าได้ค้นพบสิ่งที่ดูเหมือนคลื่นบรรยากาศเป็นครั้งแรก โดยคลื่นนี้ มีสัดส่วนขนาดเท่าดาวเคราะห์ ซึ่งเป็นข้อมูลจากยานอวกาศอาคัตสึกิ (Akatsuki) ที่แจ็กซาส่งไปโคจรสำรวจบรรยากาศชั้นกลางและชั้นล่างของดาวศุกร์
...
ทั้งนี้ พื้นที่ส่วนลึกในชั้นบรรยากาศที่มีการค้นพบการหยุดชะงักของเมฆยักษ์นั้น มีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ยังคงความร้อนและทำให้พื้นผิวมีอุณหภูมิถึง 465 องศาเซลเซียส เรียกว่าร้อนพอที่จะละลายวัตถุที่ทำด้วยตะกั่วได้ แต่คลื่นขนาดดาวเคราะห์นี้ก็อาจช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นผิวและกลไกการเคลื่อนที่ของบรรยากาศโดยรวมบนดาวศุกร์ได้ในระดับหนึ่ง.
ภาพจาก : Javier Peralta/JAXA-Planet C team