สัตว์กินพืชหากินลำบาก เพราะมนุษย์รุกคืบพื้นที่อาศัยและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง นักวิทยาศาสตร์กังวลสัตว์หลายสปีชีส์เสี่ยงสูญพันธุ์

บนโลกใบนี้ทั้งมนุษย์และสัตว์ ทุกชีวิตต่างอยู่ร่วมกันภายใต้ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ แม้แต่สัตว์ป่าเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ช่วยให้โลกมีความสมดุล แต่นับวันสัตว์ป่าทั้งหลายค่อยๆ ถูกทำลายจนสูญพันธุ์หายไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะโลกยุคนี้ การอยู่รอดของสัตว์กินพืชบางจำพวก เริ่มมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ยากลำบากมากยิ่งขึ้น หลายสปีชีส์มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์สูง เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของภาวะโลกร้อนและการรุกคืบที่อยู่ของสัตว์ของมนุษย์

สัตว์กินพืช หรือ สัตว์กินเนื้อ ใครจะอยู่ใครจะไป

แม้ว่าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กังวลมากที่สุด จะเป็นการสูญพันธุ์ของสัตว์จำพวกนักล่า แต่การศึกษาใหม่ที่ครอบคลุม ของบรรดานักนิเวศวิทยาและผู้เชี่ยวชาญ พบว่าสัตว์กินพืช กลับกลายเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดในขณะนี้ โดยเฉพาะในระบบนิเวศป่าไม้

นักวิทยาศาสตร์ตระหนักได้ว่าสัตว์ป่าทั่วโลกกำลังประสบปัญหาเสี่ยงสูญพันธุ์แม้แต่สัตว์กินเนื้อเองก็เช่นกัน แต่ความเสี่ยงสูญพันธุ์ของสัตว์กินพืชนั้นมีมากกว่า กล่าวได้ว่า แทนที่จะเป็นสัตว์จำพวกหมีขั้วโลก หรือ เสือ สัตว์นักล่าที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ แต่กลับกลายเป็นสัตว์จำพวกแรด หรือ เต่าทะเลสีเขียว ที่มีความเสี่ยงสูญพันธุ์มากกว่า

อย่างกรณี การสูญเสียแรดขาวเหนือเพศผู้ตัวสุดท้ายในป่า ที่เสียชีวิตในปี 2561 แต่นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามทุกวิถีทาง เพื่อดิ้นรนศึกษาค้นคว้าหาวิธีช่วยชีวิตสัตว์สายพันธุ์นี้ด้วยการถ่ายฝากตัวอ่อน (donor embryos)

“ผลกระทบของเรื่องนี้มีมาก” “เราต้องคิดว่าสัตว์กินพืช เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ใกล้สูญพันธุ์” Atwood นักวิจัยกล่าว

...

สาเหตุการสูญพันธุ์

เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียที่อยู่อาศัยจากฝีมือมนุษย์ ล้วนเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้สัตว์กินพืชได้รับผลกระทบหนักกว่าสัตว์ที่มีอาหารอื่นๆ เพราะโดยธรรมชาติของสัตว์กินพืชแล้ว ปกติโดยส่วนใหญ่พวกมันมีขนาดที่ใหญ่กว่าสัตว์กินเนื้อ ต้องหากินในปริมาณเยอะและต้องการพื้นที่ที่อยู่อาศัยเป็นบริเวณกว้าง ในทางกลับกัน เมื่อพวกมันถูกรุกรานพื้นที่อาศัย ทำให้พวกมันหากินลำบากขึ้นทุกวัน และเสี่ยงสูญพันธุ์มากขึ้นตามไปด้วยนั้นเอง

หากกล่าวถึงเรื่องการรุกคืบที่อยู่ของสัตว์ ภายในเพียงช่วง 2 ชั่วอายุคนของมนุษย์ โลกเราสูญเสียสัตว์ป่าไปแล้วกว่าร้อยละ50 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของเมือง การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการลักลอบล่าสัตว์ และการสร้างขยะ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาหลักที่ทำให้จำนวนประชากรสัตว์ป่าลดลง


อย่างไรก็ตาม ประเด็นการสูญพันธุ์ของสัตว์กินพืชและสัตว์กินเนื้อ รวมถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในเหล่านักวิทยาศาสตร์และนักชีววิทยา ว่าควรชี้เป้าไปที่สัตว์จำพวกใดก่อน หรือในความเป็นจริงแล้ว ควรแก้ที่ต้นตอหลัก นั่นก็คือ มนุษย์ ซึ่งเป็นนักล่าชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหาร เพราะ “โลกที่ไม่มีสัตว์กินพืชจะเป็นหายนะสำหรับระบบนิเวศทางธรรมชาติ” Galetti กล่าว

ที่มา : abcnewsfox59ksl