นักวิจัยในสิงคโปร์ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์สตาร์ วอร์ส คิดค้นผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะช่วยให้ผู้พิการแขนขา สามารถรับรู้สัมผัสต่างๆ ได้อีกครั้ง

ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์นี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เอซส์ (ACES) ซึ่งย่อมาจาก (Asynchronous Coded Electronic Skin) ถูกคิดค้นขึ้นโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ โดยภายในผิวเทียมขนาด 1 ตารางเซนติเมตร จะประกอบด้วยเซนเซอร์มากกว่า 100 จุด สามารถรับรู้ข้อมูลได้เร็วกว่าระบบประสาทของมนุษย์ทั่วไป โดยจะสามารถแยกความแตกต่างของพื้นผิวได้มากถึง 20-30 แบบ และยังสามารถนำไปใช้อ่านอักษรเบรลล์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

จากการสาธิตการสัมผัสบนพื้นผิวลูกบอลยางที่มีความนิ่ม กับลูกบอลที่ทำจากของแข็ง ผิวหนังเทียมนี้สามารถแยกแยะความแตกต่างของผิวสัมผัสทั้งสองแบบได้เป็นอย่างดี และเนื่องจากมีการคิดประมวลผลด้วยระบบเอไอ ทำให้อุปกรณ์มีการพัฒนาเรียนรู้สิ่งใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้พัฒนานวัตกรรมนี้หวังว่าจะสามารถนำอุปกรณ์นี้ไปเป็นส่วนประกอบในขาเทียมและแขนเทียม เพื่อช่วยให้ผู้พิการที่ใส่แขนขาเทียมสามารถรู้สึกถึงสัมผัสสิ่งของ และพื้นผิวต่างๆ รวมทั้งอุณหภูมิร้อนเย็น และความรู้สึกเจ็บปวดได้อีกครั้ง

...

เบนจามิน ที หัวหน้าทีมวิจัยระบุว่า พวกเขาได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจากภาพยนตร์เรื่องสตาร์ วอร์ส จากตอนที่ ลุค สกายวอล์คเกอร์ เสียแขนข้างขวาของเขาไป และต้องนำแขนกลมาใส่แทน ซึ่งทำให้เขาสามารถรับรู้สัมผัสต่างๆ ได้อีกครั้ง และแม้ว่าล่าสุดผิวหนังเทียมนี้ยังคงอยู่ในขั้นทดลอง แต่ก็ได้รับความสนใจอย่างมากในแวดวงการแพทย์

สำหรับผลงานที่คล้ายๆ กันก่อนหน้านี้ของทีมวิจัยก็คือ ผิวหนังโปร่งใสเทียม ที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ เมื่อมีการฉีกขาด รวมทั้งอุปกรณ์เปล่งแสงสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้.