MIT สร้างหน้ากากป้องกันเชื้อแบบใช้ซ้ำได้สำเร็จ จุดประกายความหวังแก้ปัญหาอุปกรณ์ป้องกันของแพทย์ขาดแคลน ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19
สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า นักวิจัยของสถานบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ ร่วมกับโรงพยาบาลสตรี บริกแฮม ในเมืองบอสตัน พัฒนาหน้ากากอนามัย ‘iMASC’ ขึ้นมาได้สำเร็จ โดยสร้างจากซิลิโคน สามารถใช้ซ้ำได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวเรื่องการปนเปื้อน
หน้ากาก iMASC มีรูปร่างคล้ายกับหน้ากากกรองอากาศเกรด N95 ทั่วไป และมีระดับการป้องกันใกล้เคียงกัน เนื่องจากใช้ตัวกรองแบบเดียวกับของหน้ากาก N95 แต่มีองค์ประกอบเสริมเพื่อดักจับโมเลกุลที่มีในหน้ากาก N95 ปกติไม่ครบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หน้ากาก iMASC ทำจากซิลิโคนทำให้สามารถนำไปฆ่าเชื้อหลังใช้ได้ ส่วนตัวกรองก็สามารถถอดเปลี่ยนได้ทุกครั้งที่ใช้
ผลวิจัยเกี่ยวกับหน้ากาก iMASC ได้รับการเผยแพร่ผ่านวารสารการแพทย์ ‘British Medical Journal Open’ โดยนักวิจัยระบุว่า จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการจับโมเลกุลไวรัสของหน้ากากชนิดใหม่นี้ แต่ iMASC ก็ถือเป็นก้าวสำคัญเพื่อแก้ปัญหาอุปกรณ์ป้องกันของแพทย์ขาดแคลน ที่เกิดขึ้นเพราะการระบาดของไวรัสโคโรนา
นักวิจัยเผยด้วยว่า พวกเขาใช้เครื่องทำสำเนา 3 มิติ สร้างหน้ากาก iMASC ขึ้นมา และลองให้พยาบาลกับหมอหลายคนจากโรงพยาบาลสตรี บริกแฮม ใช้ ซึ่งพวกเขาให้คะแนนผ่านในเรื่องการหายใจได้, ความกระชับของหน้ากาก และความสะดวกสบายในการเปลี่ยนตัวกรอง และเมื่อเทียบกับหน้ากาก N95 ของจริง เจ้าหน้าที่หลายคนเลือกไม่ถูกว่าชอบหน้ากากแบบไหน ขณะที่บางคนบอกว่าชอบหน้ากากชนิดใหม่นี้มากกว่า
...
ทั้งนี้ หน้ากากกรองอากาศเกรด N95 ถือเป็นหน้ากากป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่มีในตอนนี้ โดยสามารถดักจับโมเลกุลได้ถึง 95% แต่ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อรองรับการฆ่าเชื้อหรือใช้งานซ้ำ แต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้อุปกรณ์ป้องกันของแพทย์ (PPE) ขาดแคลนอย่างหนัก จนแพทย์ต้องคิดหาวิธีใช้หน้ากากและถุงมือซ้ำอีกครั้ง แม้จะมีความเสี่ยงว่าเชื้อจะปนเปื้อน เพราะยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย
ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ คิดค้นวิธีมากมายเพื่อนำหน้ากาก N95 กลับมาใช้ใหม่ได้อย่างปลอดภัย แต่ต้องพบกับข้อจำกัดทั้งในเรื่องเวลาที่ต้องใช้เพื่อฆ่าเชื้อ และอุปกรณ์ที่ต้องใช้ก็เป็นสิ่งที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่มี นักวิจัยของ MIT จึงคิดที่จะสร้างหน้ากากรูปแบบใหม่ขึ้นมา
MIT ได้ทดลองนำหน้ากาก iMASC ไปฆ่าเชื้อด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งด้วยหม้อนึ่งฆ่าเชื้อ (steam sterilizer), ใส่เข้าไปในเตาอบ และอาบด้วยสารฟอกขาว และไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ สำหรับฆ่าเชื้อ พบว่าไม่มีวิธีการใดที่ทำให้หน้ากากซิลิโคนชนิดนี้เสียหายเลย.