งานวิจัยชี้ ภาวะโลกร้อนจะทำให้หมีขั้วโลก นักล่าแห่งดินแดนขั้วโลกเหนือต้องประสบภาวะอดอยาก และสูญพันธุ์ไปจากโลกในอีก 80 ปีข้างหน้า
นักวิจัยมหาวิทยาลัยโตรอนโต ในแคนาดา เผยแพร่งานวิจัยล่าสุดที่พบว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้โลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว หมีขาวที่อาศัยอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือจะประสบภาวะอดอาหารตายและค่อยๆ สูญพันธุ์ไปจากโลก ในช่วงเวลาอีกเพียง 80 ปีข้างหน้า หรือในราวปี 2643
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Climate Change ระบุว่า หากโลกยังมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงแบบนี้ หมีขั้วโลกจะสูญพันธุ์ไปหมดในช่วงปลายศตวรรษนี้ เนื่องมาจากแผ่นน้ำแข็งที่หมีขั้วโลกใช้ในการล่าเหยื่ออย่างแมวน้ำละลายไปหมด หมีขั้วโลกจะต้องอพยพเป็นระยะทางไกลเพื่อหาแผ่นน้ำแข็ง บางส่วนต้องรุกล้ำมาบนแผ่นดินเพื่อหาอาหาร
โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้อ้างอิงจากโมเดลช่วงเวลาที่จัดทำขึ้นมาศึกษาสภาพการณ์ 2 แบบที่หมีขั้วโลกจะต้องเผชิญ แบบแรกคือ หากว่าโลกไม่ได้มีการลดก๊าซเรือนกระจก เมื่อสิ้นสุดศตวรรษ หมีขาวจะยังหลงเหลืออยู่แค่ที่เกาะควีนเอลิซาเบธ หมู่เกาะทางตอนเหนือของแคนาดา และหากโลกมีการลดก๊าซเรือนกระจกลงมาระดับปานกลาง หมีขั้วโลกจะไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ในปี 2623 ซึ่งทำให้จำนวนประชากรหมีขั้วโลกตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์เช่นกัน
ดร.สตีเฟน แอมสตรัป หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์สถาบันหมีขั้วโลกระหว่างประเทศ ซึ่งร่วมทำการวิจัยครั้งนี้ด้วยเปิดเผยว่า เขาได้เห็นภาวะอันตรายต่อการอยู่รอดของลูกหมีขั้วโลก เนื่องจากแม่หมีจะไม่มีอาหารกินเพียงพอที่ร่างกายจะผลิตน้ำนมออกมาเลี้ยงลูก ขณะที่วงจรชีวิตตามธรรมชาติของหมีก็ตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากหมีขาวจะต้องสะสมพลังงานช่วงจำศีลในฤดูหนาว เพื่อนำพลังงานเหล่านี้ไปใช้ในช่วงฤดูร้อนที่ต้องออกหาอาหาร
...
ดร.ปีเตอร์ โมลนาร์ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต ระบุว่า ที่ผ่านมาหมีขั้วโลกเป็นเหมือนสัตว์สัญลักษณ์ของปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพราะว่าหากแผ่นน้ำแข็งละลายไปหมด พวกมันก็ไม่มีที่ไป ขณะที่ปัจจุบันหมีขั้วโลกถูกบรรจุลงในบัญชีสัตว์เสี่ยงสูญพันธ์ุของสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ-IUCN.