หลังจีนออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 23.00 น. คืนวันที่ 30 มิ.ย. ก็มีกระแสต่อต้านอย่างกว้างขวางทั้งในฮ่องกงและนานาชาติ รวมทั้ง “ไต้หวัน” ซึ่งหวั่นกลัวว่าตนจะเป็นรายต่อไปที่ถูกจีนรวบรัด “ฮุบ” เหมือนฮ่องกงหรือไม่ และด้วยวิธีการใด?

จีนและไต้หวันแยกจากกันใน พ.ศ.2492 หรือ 71 ปีก่อน หลังรัฐบาลพรรคชาตินิยม “ก๊กมินตั๋ง” ภายใต้การนำของนายพลเจียง ไคเช็ค แพ้สงครามกลางเมืองต่อกองทัพพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีท่านประธานเหมา เจ๋อตุง เป็นผู้นำ ทำให้รัฐบาลก๊กมินตั๋งหนีไปอยู่เกาะฟอร์โมซาหรือไต้หวันในปัจจุบัน

ตั้งแต่นั้น รัฐบาลจีนก็ประกาศว่าไต้หวันเป็นดินแดนหนึ่งของตน และต้องรวมชาติในสักวันหนึ่ง แม้จำเป็นต้องใช้กำลังทหารบุกยึด ในหลายปีหลัง จีนใช้ทั้งกลยุทธ์ข่มขู่และชักจูงให้ไต้หวันยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีนรวมทั้งเสนอใช้หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” กับไต้หวันเหมือนในฮ่องกง

โมเดลดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงพิเศษก่อนอังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีนเมื่อ 1 ก.ค.2540 อนุญาตให้ฮ่องกงมีสิทธิปกครองตนเอง มีเสรีภาพในระดับสูง และมีระบบยุติธรรมอิสระเป็นเวลาอย่างน้อย 50 ปี ซึ่งบางยุคสมัย ชาวไต้หวันไม่น้อยก็เห็นด้วยที่จะใช้โมเดลนี้กับไต้หวัน

อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองหลักของไต้หวันคือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) พรรครัฐบาลปัจจุบัน และพรรคก๊กมินตั๋งฝ่ายค้านก็ปฏิเสธข้อเสนอนี้มาตลอด แม้ก๊กมินตั๋งมีนโยบายสานสัมพันธ์กับจีนมากกว่า

จีนยิ่งมีท่าทีแข็งกร้าวกับไต้หวันมากขึ้น นับตั้งแต่ น.ส.ไช่ อิงเหวิน แห่งพรรคดีพีพี ซึ่งมีจุดยืนว่าไต้หวันเป็นชาติรัฐอิสระ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 2559

...

ตั้งแต่นั้น จีนยิ่งเพิ่มแรงกดดันไต้หวันทั้งด้านการทูต เศรษฐกิจ การทหาร โดยซ้อมรบข่มขู่ไต้หวันบ่อยครั้ง ขณะที่พยายามโดดเดี่ยวไต้หวัน ด้วยการดึงมิตรประเทศของไต้หวันให้หันมาซบจีน ทำให้ไต้หวันเหลือพันธมิตรแค่ 15 ประเทศ หรือดินแดนทั่วโลก

แต่แรงกดดันจากจีนไม่สามารถทำให้ไต้หวันซึ่งมีประชากรราว 23 ล้านคน โอนอ่อนยอมรับจีนมากขึ้นได้ การที่ น.ส.ไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายเมื่อเดือน ม.ค.ปีนี้ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าชาวไต้หวันคิดตีตัวออกห่างจากจีนมากขึ้น

โพลเมื่อเร็วๆนี้ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงฉือของไต้หวันเผยว่า ชาวไต้หวันมากมายถึง 67% ระบุว่าตนเองเป็น “ชาวไต้หวัน” แทนที่จะเป็น “ชาวจีนไต้หวัน” หรือ “ชาวจีน” ซึ่งเพิ่มขึ้นจากโพลปีที่แล้วถึง 10% และเพิ่มขึ้นจากปี 2535 หรือ 28 ปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 18% เกือบ 4 เท่า!

นางแคร์รี แลม ผู้นำฮ่องกง กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดสำนักงานความมั่นคงของจีนในฮ่องกง เมื่อ 8 ก.ค. หลังจีนบังคับใช้ ก.ม.ความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกง (เอพี)
นางแคร์รี แลม ผู้นำฮ่องกง กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดสำนักงานความมั่นคงของจีนในฮ่องกง เมื่อ 8 ก.ค. หลังจีนบังคับใช้ ก.ม.ความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกง (เอพี)

ส่วน ก.ม.ความมั่นคงฉบับใหม่นั้น นอกจากระบุให้การแบ่งแยกดินแดน การล้มล้างอำนาจรัฐบาลกลาง การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ มีความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึงตลอดชีวิต จีนยังเข้าไปตั้งสำนักงานความมั่นคงในฮ่องกงเป็นครั้งแรก

ก.ม.นี้ยังมีขอบเขตอำนาจกว้างขวางคลุมเครือสุดแต่จีนจะนิยามหรือตีความ มาตรา 38 ของ ก.ม.นี้ยังระบุว่าผู้คนทุกสัญชาติในทุกดินแดนทั่วโลกมีโอกาสทำผิด ก.ม.ความมั่นคงของฮ่องกงได้ และอาจถูกจับเมื่อเดินทางเข้าฮ่องกง ส่วนตำรวจฮ่องกงยังประกาศชัดว่าการสนับสนุนเอกราชของฮ่องกง ไต้หวัน ทิเบต และซินเจียงนั้นผิดกฎหมายความมั่นคง ตำรวจยังมีอำนาจสอดแนมและตรวจค้นผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องมีหมายศาลด้วย

ในหลายทศวรรษหลังไต้หวันพัฒนาจากระบอบเผด็จการจนมีประชาธิปไตยก้าวหน้าที่สุดชาติหนึ่งในเอเชีย ขณะที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ของไต้หวันก็หวาดระแวงจีนมากขึ้นทุกวัน ในเครือข่ายสังคมออนไลน์มีคนรุ่นใหม่โพสต์ข้อความสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกง โพสต์สนับสนุนเอกราชของไต้หวัน และตีแผ่ข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนในภูมิภาคปกครองตนเองต่างๆ เช่น ทิเบตและซินเจียงอย่างแพร่หลาย

หลังเห็นจีนบังคับใช้ ก.ม.ความมั่นคงในฮ่องกง ชาวไต้หวันยิ่งหวาดระแวงจีนมากขึ้น เพราะกลัวว่าไต้หวันคือเป้าหมายต่อไปของจีน บางคนกลัวจนบอกว่าไม่กล้าแม้แต่จะเดินทางผ่านฮ่องกงเพราะกลัวถูกจับ หลายคนกลัวถึงขั้นลบโพสต์ต่างๆในโซเชียลมีเดียที่เคยกดไลค์ หรือแสดงความสนับสนุนฮ่องกงและต่อต้านจีนทิ้ง เพราะกลัวถูกจีนสืบสาวเล่นงานย้อนหลัง

หลิน เฟย-ฟ่าน รองเลขาธิการพรรคดีพีพีเตือนว่าคนไต้หวันอาจถูกจับเมื่อเดินทางไปฮ่องกงในข้อหาที่สุดแต่จีนจะกุขึ้น โดยยกตัวอย่างนายลี หมิง-เจ๋อ เจ้าหน้าที่เอ็นจีโอชาวไต้หวันถูกจับภายใต้กฎหมายล้มล้างรัฐบาล ขณะเดินทางไปจีนในปี 2560 ชะตากรรมของเขาถูกปิดลับหลายเดือนกว่าสาธารณชนจะได้รับรู้

...

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวัน สวมหน้ากากป้องกันเชื้อไวรัสโควิด–19 ไปเยี่ยมศูนย์บัญชาการกองกำลังพลสำรอง เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ก่อนเตือนเมื่อ 7 ก.ค. ว่าไต้หวันจะใช้มาตรการตอบโต้ถ้ากฎหมายความมั่นคงของจีนในฮ่องกงสร้างความเสียหายต่อไต้หวัน (รอยเตอร์)
ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวัน สวมหน้ากากป้องกันเชื้อไวรัสโควิด–19 ไปเยี่ยมศูนย์บัญชาการกองกำลังพลสำรอง เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ก่อนเตือนเมื่อ 7 ก.ค. ว่าไต้หวันจะใช้มาตรการตอบโต้ถ้ากฎหมายความมั่นคงของจีนในฮ่องกงสร้างความเสียหายต่อไต้หวัน (รอยเตอร์)

...

ส่วนซุง เฉิน-เอน คอลัมนิสต์และนักวิเคราะห์การเมืองในไทเปกล่าวว่า ก.ม.ความมั่นคงของจีนในฮ่องกงได้สร้างความไม่แน่นอนว่าอะไรที่พูดได้หรือพูดไม่ได้ และครอบคลุมกว้างไกลนอกเหนือพรมแดนฮ่องกง ถ้าทุกคนต้องคอยเฝ้าระวังการแสดงความคิดเห็นของตนเอง จะส่งผลร้ายที่น่ากลัวยิ่งต่อประชาธิปไตย ถ้าทุกคนมัวแต่ยับยั้งชั่งใจไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ก็เท่ากับไร้เสรีภาพโดยสิ้นเชิง

ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร แต่ ก.ม.ความมั่นคงในฮ่องกงส่งผลกระทบกว้างไกลกว่าที่คิด และอาจผลักดันให้ “ไต้หวัน” กระด้างกระเดื่องตีตัวออกห่างจากจีนมากขึ้นจนกู่ไม่กลับ ส่วนจีนจะจัดการอย่างไร ถึงขั้นใช้กำลังผนวกไต้หวัน หรือไม่...น่าติดตามอย่างยิ่ง!

บวร โทศรีแก้ว