...สิงคโปร์เพิ่งเผชิญโคโรนาไวรัส “โควิด-19” ระบาดระลอก 2 พลเมืองทั้งประเทศมากราว 5.7 ล้านคน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากราว 4.5 หมื่นคน ผู้เสียชีวิต 26 ราย

แต่ภัยไข้เจ็บที่คุกคามชาวสิงคโปร์มากอย่างมีนัยสำคัญอีกในปีนี้คือ “ไข้เลือดออก”--Dengue fever

ปี 2556 สิงคโปร์พบการระบาดของไข้เลือดออกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ พบผู้ป่วยมากถึง 22,170 ราย แต่เฉพาะช่วงครึ่งแรกของปีนี้พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกแล้วมากกว่า 14,000 ราย

“เชื้อไข้เลือดออก” มาจากพาหะ “ยุงลาย” เช่นเดียวกับพาหะนำโรค “ไข้ซิกา”--Zika//“ไข้ชิคุนกุนยา”--Chikungunya และ “ไข้เหลือง”--Yellow fever แม้อาการป่วยจากการติดเชื้อไข้เลือดออกจะค่อยๆทวีความรุนแรง เริ่มจากมีไข้สูง ปวดหัว ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อต่อตามร่างกาย แต่ผู้ติดเชื้อบางรายจะมีอาการรุนแรงขั้นตกเลือด หายใจลำบาก อวัยวะภายในร่างกายทำงานล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

ชาวสิงคโปร์ล้มตายจากไข้เลือดออกปีนี้แล้ว 16 ราย ตัวเลขมากกว่าปี 2556 ถึงกว่า 1 เท่าตัว ห้วงเวลาอันตรายที่สุดของการระบาดในแต่ละปีคือช่วงเดือน มิ.ย.-ต.ค.

มาตรการเร่งสกัดไข้เลือดออกระบาดในสิงคโปร์เตรียมถูกประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ 15 ก.ค.นี้ ถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจเจอแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณสถานที่ของผู้ใดจะถูกลงโทษและปรับเงินจำนวนหนึ่ง

“ไข้เลือดออก” คือปัญหาด้านสาธารณสุขสำคัญประการหนึ่งของโลกนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โรคภัยชนิดนี้แพร่ระบาดในกว่า 120 ประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียและอเมริกาใต้ที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นเหมาะแก่การขยายพันธุ์ของยุงลาย

...

แต่ละปีชาวโลกติดเชื้อ “ไข้เลือดออก” มากกว่า 390 ล้านคน ล้มตายมากราว 40,000 ราย ตั้งแต่ช่วงปี 2562 พบสัญญาณการระบาดของ “ไข้เลือดออก” มากขึ้นเรื่อยๆ อัตราการเพิ่มของเชื้อไข้เลือดออกทั่วโลกมากขึ้น 30 เท่าตลอดช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา

“ไข้เลือดออก” ถูกรู้จักครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ.2322 แต่ชาวโลกเริ่มเข้าใจและรู้จักไข้เลือดออกมากขึ้นเมื่อช่วงต้นศตวรรษ 20 หรือกว่า 100 ปีที่ผ่านมา ทั้งรู้วิธีลดการระบาดของเชื้อไข้เลือดออกด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย แต่ก็ยังคิดค้นพัฒนายารักษาไข้เลือดออกโดยตรงไม่สำเร็จ...

อานุภาพ เงินกระแชง