ผลวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยฟลอริดา แอตแลนติก ของสหรัฐฯ พบว่าหน้ากากผ้าสองชั้นที่มีการตัดเย็บให้เข้ารูปหน้า สามารถป้องกันละอองฝอยจากการจามได้ดีกว่าหน้ากากผ้าประยุกต์แบบอื่น

สำนักข่าวเดลี่เมล์ของอังกฤษ เผยผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฟลอริดาแอตแลนติก ของสหรัฐฯ ที่ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร ฟิสิกส์ ออฟ ฟลูอิด เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยได้ทำการทดลองกับหน้ากากผ้าหลายรูปแบบ พบว่า หน้ากากผ้าสองชั้นที่มีการตัดเย็บอย่างดี สามารถป้องกันละอองฝอยจากการไอ หรือจามของผู้ที่สวมใส่ได้ดีที่สุด

โดยการทดลองครั้งนี้มีการใช้หุ่นจำลองและใช้ตัวปั๊มพร้อมเครื่องปล่อยควัน เพื่อแทนการพ่นละอองฝอยในลักษณะเดียวกับการไอและการจามของมนุษย์ โดยทดลองทั้งแบบที่หุ่นไม่ได้สวมหน้ากากใดๆ และสวมหน้ากากผ้าอีก 3 แบบ คือ หน้ากากผ้าที่ทำมาจากการนำผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าพันคอมาประยุกต์เองหลวมๆ หน้ากากอนามัยที่ตัดเย็บจากผ้า 2 ชั้น และหน้ากากรูปทรงกลมที่ขายอยู่ตามร้านขายยาทั่วไป ผลปรากฏว่าละอองฝอยจากการจามโดยไม่สวมหน้ากากใดๆ เลยจะสามารถลอยไปได้ไกลถึงกว่า 8 ฟุต ขณะที่การสวมหน้ากากที่พับขึ้นเองจากผ้าพันคอสามารถพุ่งไปได้ไกลถึง 3 ฟุต ส่วนการใช้ผ้าเช็ดหน้ามาพับทบเอง ละอองฝอยสามารถกระจายไปได้ไกล 1 ฟุต และหน้ากากรูปทรงกลมที่มีขายทั่วไป ละอองฝอยจะหลุดรอดไปได้ไกล 8 นิ้ว ขณะที่หน้ากากผ้าที่มีการตัดเย็บ 2 ชั้น และมีรูปทรงกระชับกับใบหน้า จะมีละอองฝอยเล็ดลอดออกไปได้ไกลแค่ 2.5 นิ้วเท่านั้น

ทั้งนี้ นักวิจัยระบุว่า เหตุผลที่พวกเขานำหน้ากากผ้าเหล่านี้มาทดสอบ เพราะหน้ากากผ้าเหล่านี้สามารถหาซื้อได้ทั่วไป และมีประชาชนนิยมใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์กันจำนวนมาก แต่ยังไม่เคยมีการวิจัยว่าหน้ากากผ้าแบบใดมีประสิทธิภาพดีที่สุด โดยหวังว่าผลการวิจัยครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนว่าทำไมจะต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม และสวมหน้ากากอยู่เสมอ

...

ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า รัฐบาลทุกประเทศควรกระตุ้นให้ประชาชนสวมหน้ากากผ้า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่สามารถบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่าง 1 เมตรได้ อย่างบนรถขนส่งสาธารณะ ในร้านค้า หรือในพื้นที่ที่มีคนอยู่กันอย่างหนาแน่น เช่นเดียวกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ที่แนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากผ้าเพื่อปกป้องตัวเองและผู้อื่น ในสถานที่ที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างจากกันได้.