ขณะที่โลกใบนี้เสื่อมโทรมลงทุกวันจากน้ำมือมนุษย์ ชาติมหาอำนาจรวมทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน อินเดีย กำลังแข่งขันชิงกันเป็น “เจ้าอวกาศ” อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะสหรัฐฯพยายามกลับมาเป็นที่หนึ่งอีกครั้ง
เมื่อ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา จรวด “ฟัลคอน 9” ของบริษัท “สเปซเอ็กซ์” ของนายอีลอน มัสค์ ซีอีโอบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้า “เทสลา” ของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จงดงามในการส่งแคปซูลอวกาศ “ครูว์ ดรากอน” พร้อมนักบินอวกาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) 2 คน ชื่อดัก เฮอร์ลีย์ และบ็อบ เบห์นเคน จากฐานปล่อยจรวดที่แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา ขึ้นสู่วงโคจรอวกาศ
ครูว์ ดรากอนใช้เวลา 19 ชม. นำนักบินทั้งคู่ไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) เรียบร้อย นับเป็นครั้งแรกที่นาซาใช้จรวดรุ่นใหม่ขึ้นสู่อวกาศในรอบ 40 ปี และเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่นักบินของ นาซาขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดของสหรัฐฯเอง และจากแผ่นดินสหรัฐฯเอง
...
นาซาส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศเองครั้งสุดท้ายในปี 2554 ก่อนระงับโครงการ “กระสวยอวกาศ” ของตนเอง จากนั้นก็ใช้บริการจรวด “โซยูซ” ของรัสเซียมาตลอด ทำให้รัสเซียเป็นผู้ผูกขาดด้านการส่งนักบินอวกาศ
ตั้งแต่นั้น นักบินอวกาศของชาติต่างๆ รวมทั้งสหรัฐฯต้องไปฝึกอบรมที่เขต “สตาร์ ซิตี้” นอกกรุงมอสโก และเรียนภาษารัสเซียด้วย ก่อนขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดโซยูซจากฐานปล่อยที่เมืองไบโคนูร์ในคาซัคสถาน ซึ่งทำให้รัสเซียมีอิทธิพลสูงมากในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส)
รัสเซียยังโกยเงินมหาศาลจากการนำนักบินต่างชาติขึ้นสู่อวกาศ โดยนาซาต้องจ่ายถึง 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 2,400 ล้านบาท) ในการนำนักบินของตน 1 คนขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดโซยูซ ของรัสเซีย
ความสำเร็จของ “สเปซเอ็กซ์” ครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณเตือนถึง “รอสคอสมอส” (Roscosmos) หรือองค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าถ้าสเปซเอ็กซ์เข้ามารับภารกิจส่งนักบินอวกาศของนาซาต่อจากนี้ไป จะทำให้รอสคอสมอสสูญเสียรายได้ปีละกว่า 200 ล้านดอลลาร์ (กว่า 6,000 ล้านบาท)
อีลอน มัสค์ ซีอีโอของสเปซเอ็กซ์ ยังเกทับรัสเซีย ด้วยการประกาศว่าจะคิดค่าส่งนักบินอวกาศแค่คนละ 60 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,800 ล้านบาท) ถูกกว่ารัสเซียมาก เรื่องนี้ทำเอารัสเซียกังวลใจไม่น้อย แม้นายดมิทรี โรโกซิน ประธานใหญ่ของรอสคอสมอสยังใจดีสู้เสือ แสดงความยินดีกับความสำเร็จของสเปซเอ็กซ์ และว่ารอสคอสมอสจะพยายามลดค่าส่งนักบินอวกาศลงถึง 30% ให้ได้
แต่อังเดร ไอโอนิน ผู้เชี่ยวชาญแห่งสถาบันอวกาศทีไซโอลคอฟสกีในมอสโกแสดงความสงสัยว่ารอสคอสมอสจะทำราคาสู้สเปซเอ็กซ์ได้หรือไม่ เพราะสเปซเอ็กซ์สามารถลดค่าใช้จ่ายได้มหาศาลด้วยการใช้เครื่องยนต์จรวดราคาถูก อีกทั้งผลิตชิ้นส่วนเองเกือบทั้งหมด ถ้ารัสเซียจะทำเช่นนั้นต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิตครั้งใหญ่
ไอโอนินยังระบุว่า อุตสาหกรรมอวกาศของรัสเซียย่ำแย่กว่าที่ผู้บริหารรอสคอสมอสยอมรับมาก หนึ่งในปัญหาใหญ่ก็คือมีการทุจริตคอร์รัปชันสูง รวมทั้งคดีคอร์รัปชันอื้อฉาวหลายครั้งในโครงการก่อสร้างฐานปล่อยจรวดแห่งใหม่ชื่อ “วอสทัชนี” ในภูมิภาคตะวันออกไกล นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอวกาศรัสเซียยังขาด “นวัตกรรม” ใหม่ๆมุ่งเน้นดัดแปลงเทคโนโลยีตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียตเป็นหลัก โดยไม่มีวิวัฒนาการใหญ่ๆที่โดดเด่น
โครงการอวกาศรัสเซียเริ่มโด่งดังสุดๆ ตั้งแต่ส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อปี 2504 หลังสามารถส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ 4 ปีก่อนหน้านั้น ความสำเร็จในครั้งนั้นยังเป็นความภาคภูมิใจของชาติอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ในหลายปีหลัง โครงการอวกาศรัสเซียถดถอย รวมทั้งการสูญเสียยานอวกาศและดาวเทียมราคาแพงไปหลายดวง
ดังนั้น การผงาดขึ้นมาของสเปซเอ็กซ์ ซึ่งตั้งเป้าจะส่งนักบินอวกาศไป “ดาวอังคาร” และโครงการอวกาศของ “จีน” ซึ่งกำลังมาแรง จึงเป็นสัญญาณอันตรายถึงรัสเซียว่าถ้าไม่เร่งปฏิรูป จะถูกทิ้งห่างออกไปทุกที แม้เมื่อราว 10 ปีก่อน รัสเซียเคยเป็น “เบอร์ 1” ด้านการส่งนักบินอวกาศ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว
ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เร่งฟื้นฟูโครงการสำรวจอวกาศ รวมทั้งตั้ง “สภาอวกาศแห่งชาติ” ขึ้น เพื่อวางเป้าหมายและนโยบายด้านอวกาศ รัสเซียก็จำเป็นต้องปฏิรูปโครงการอวกาศครั้งใหญ่ รวมทั้งตั้งหน่วยงานใหม่ของรัฐบาลที่เป็นอิสระจากผู้บริหารรอสคอสมอสรุ่นเก่าๆ เพื่อวางยุทธศาสตร์ใหม่ๆ
...
...
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ยังขาดเจตจำนงทางการเมืองในการปฏิรูปอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ เพราะยังมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีจรวดเพื่อการทหารเป็นหลัก โดยเฉพาะ “ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก” ความเร็วเหนือเสียง ซึ่งปูตินคุยโม้ว่าไม่มีชาติใดทัดเทียมได้
เพื่อไม่ให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โครงการอวกาศรัสเซียอาจจำเป็นต้องร่วมมือกับชาติอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐฯ และจีน หนึ่งในนั้นอาจเป็นโครงการส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคารซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่รัสเซียสามารถสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและทักษะ แต่สหรัฐฯและจีนจะเล่นด้วยหรือไม่ยังน่าสงสัย
โครงการอวกาศของรัสเซียจึงอยู่ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญว่าจะปรับตัวไปในทิศทางใด!
บวร โทศรีแก้ว