เหตุการณ์ประท้วงทั่วสหรัฐอเมริกา จากกรณีนายจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันผิวสีวัย 46 ปี ถูกนายดิเรก เชาวิน ตำรวจอเมริกันผิวขาววัย 44 ปี ใช้หัวเข่ากดต้นคอระหว่างการจับกุมจนเสียชีวิต ยังคงทวีความตึงเครียดต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 หลังความโกรธแค้นของผู้ประท้วงได้ทำให้สถานการณ์ลุกลามกลายเป็นเหตุจลาจลในอย่างน้อย 30 เมืองทั่วสหรัฐฯ โดยเมื่อวันที่ 31 พ.ค. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิว ห้ามออกจากเคหสถานในยามวิกาลแล้ว ใน 25 เมืองของ 16 รัฐ

ทั้งนี้ คำสั่งเคอร์ฟิวพร้อมการขอกำลังสนับสนุนจากทหารป้องกันมาตุภูมิแนชนัล การ์ด ประกาศใช้ในเมืองต่างๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นรับมือสถานการณ์ไม่ไหว ผู้ประท้วงได้กระจายตัวก่อม็อบและเผชิญหน้ากับตำรวจในพื้นที่ต่างๆ ทั้งยังมีคนบางกลุ่มผสมโรงจากความวุ่นวาย ก่อเหตุปล้นสะดมร้านค้า เผาทำลายอาคาร เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นทั้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย โคโลราโด ฟลอริดา จอร์เจีย อิลลินอยส์ เคนตักกี มินเนโซตา นิวยอร์ก โอไฮโอ โอเรกอน เพนซิลเวเนีย เซาท์แคโรไลนา เทนเนสซี ยูทาห์ วอชิงตัน และวิสคอนซิน

นอกจากนี้ เมืองที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงลำดับต้นๆ ยังได้แก่ ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก ชิคาโก ฟิลาเดลเฟีย ไมอามี พอร์ตแลนด์ แอตแลนตา หลุยส์วิลล์ แต่สื่อท้องถิ่นสหรัฐฯรายงานว่า ที่เมืองมินนิแอโปลิส รัฐมินเนโซตา ซึ่งเป็นสถานที่ที่นายจอร์จ ฟลอยด์ เสียชีวิต สถานการณ์ได้ลดความรุนแรง หลังแนชนัล การ์ด ประสบความสำเร็จในการสลายการชุมนุม เมื่อคืนวันที่ 30 พ.ค.

ด้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกแถลงวันเดียวกันว่า ขอยืนหยัดเคียงข้างชาวอเมริกันที่โกรธแค้นและเศร้าเสียใจต่อเหตุการเสียชีวิตของนายฟลอยด์ แต่การปล้นสะดมและก่อความรุนแรงถือเป็นการหมิ่นเกียรติของผู้เสียชีวิต เราควรจะเยียวยาไม่ใช่โกรธเคือง เชื่อในความยุติธรรมไม่ใช่ความไร้ระเบียบโกลาหล และไม่มีวันที่จะยอมให้ผู้ประท้วงมาครองเมือง เช่นเดียวกับการชุมนุมหน้าทำเนียบขาว หากผู้ประท้วงรุกล้ำ ก็ต้องเจอกับอาวุธอันน่าสะพรึงกลัวและฝูงสุนัขดุ

...

อนึ่ง เหตุการณ์เสียชีวิตของนายฟลอยด์ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. หลังถูกจับกุมฐานต้องสงสัยใช้ธนบัตรปลอมซื้อของ และร้องขอชีวิตหลังถูกตำรวจใช้เข่ากดคอว่าหายใจไม่ออกอย่าฆ่าผม จนสิ้นสติไปและเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น มีผลชันสูตรเบื้องต้นว่า เป็นการเสียชีวิตจากอาการป่วยแต่เดิม ไม่ใช่จากการขาดอากาศ แต่การควบคุมตัวของตำรวจอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต ขณะที่นายเชาวินถูกไล่ออกจากกรมตำรวจในวันที่ 26 พ.ค. และถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม โดยมีกำหนดขึ้นศาลไต่สวนในวันที่ 1 มิ.ย.