บุคลากรทางการแพทย์ในห้องแล็บอาจมีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากขึ้น หลังงานวิจัยจากฝรั่งเศสชี้ว่า การฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจต้องใช้อุณหภูมิสูงถึง 92 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานถึง 15 นาที
สำนักข่าว South China Morning Post สื่อภาคภาษาอังกฤษในฮ่องกง รายงานในวันนี้ (14 เม.ย.) อ้างผลการวิจัย นำโดยศาสตราจารย์ Remi Charrel จากมหาวิทยาลัย the Aix-Marseille University ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ที่พบว่าการใช้อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นอุณหภูมิมาตรฐานสำหรับการฆ่าเชื้อในห้องแล็บ ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ โดยเชื้อยังสามารถแบ่งตัวออกมาได้ใหม่ด้วย
ทีมวิจัยทดลองโดยนำเชื้อไวรัสโควิด-19 จากผู้ป่วยในเยอรมนี มาแบ่งทดลองเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สะอาด ส่วนอีกกลุ่มเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ปนเปื้อน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับที่เชื้อที่ส่งเข้าไปตรวจในห้องแล็บ
ผลการทดลองปรากฏว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สะอาด สามารถกำจัดได้ง่ายกว่าเชื้อที่ปนเปื้อน ซึ่งอาจต้องใช้อุณหภูมิสูงถึง 92 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน 15 นาที เชื้อถึงถูกกำจัดได้อย่างสมบูรณ์
แม้ทีมวิจัยจะระบุว่า ในชีวิตจริง เชื้อไวรัสโควิด-19 อาจไม่ทนต่อความร้อนขนาดนี้ เพราะเชื้อที่อันตรายต้องมีการปนเปื้อนไวรัสในระดับที่สูง แต่เจ้าของงานวิจัยก็ย้ำว่า การกำหนดมาตรฐานการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อในห้องแล็บมีความจำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดกับไวรัสโควิด-19
ก่อนหน้านี้มีหลายฝ่ายตั้งสมมติฐานว่า ความร้อนอาจช่วยลดความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ แต่ก็มีงานวิจัยจากประเทศจีนที่ชี้ว่า ผู้ที่อยู่ในอากาศร้อนก็มีความเสี่ยงป่วยโรคโควิด-19 เช่นกัน โดยอ้างถึงกรณีผู้ป่วยรายหนึ่งที่ไปใช้บริการโรงอาบน้ำสาธารณะที่มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ก็สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้ใช้บริการและพนักงานคนอื่นได้อีก 8 คน ขณะที่สมมติฐานว่า ประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่รุนแรงเท่าชาติที่มีสภาพอากาศหนาว ก็ยังไม่มีผลวิจัยที่ชัดเจน
...