รายงานของธนาคารโลกเผยแพร่เมื่อ 30 มี.ค. คาดหมายสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มชาติภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยเฉพาะกลุ่มชาติกำลังพัฒนา อาจผลักดันผู้คนในภูมิภาคให้ตกอยู่ในสภาพความยากจนมากขึ้นอีกกว่า 11 ล้านคน แม้แต่จีนก็ต้องเผชิญสถานการณ์เดียวกันนี้ ทั้งๆที่สถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ในจีนเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว หลังเผชิญการระบาดอย่างรุนแรงมาตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว

ธนาคารโลกคาดหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในช่วงปี2020 อยู่ที่ราว 2.1 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าสภาพการณ์เลวร้ายที่สุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเฉลี่ยอาจติดลบ 0.5 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจช่วงปี 2019 อยู่ที่ราว 5.8 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนปีนี้ คาดว่า อยู่ที่ราว 2.3 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดเศรษฐกิจจะเติบโตเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจช่วงปี 2019 อยู่ที่ราว 6.1 เปอร์เซ็นต์

ธนาคารโลกระบุปัจจุบันผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก อยู่ในสภาพยากจนมากเกือบ 35 ล้านคน โดยกว่า 25 ล้านคนอยู่ในประเทศจีน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในชาติอื่นๆ โดยกลุ่มคนยากจนวัดจากค่าเฉลี่ยรายได้ดำรงชีพแต่ละวันต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 170 บาท

รายงานของธนาคารโลกระบุอีกว่า หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อเพิ่มศักยภาพระบบสาธารณสุขของประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ส่วนจีนในฐานะชาติเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก แม้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเริ่มทยอยกลับสู่ภาวะการผลิตปกติ แต่การส่งออกสินค้าของจีนก็ยังต้องได้รับผลกระทบ เพราะการนำเข้าสินค้าจากนานาประเทศยังชะลอตัว

...

ส่วนประมาณการของธนาคารโลกระบุ การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียปีนี้ อาจอยู่ที่ 2.3 เปอร์เซ็นต์ มาเลเซีย 4.6 เปอร์เซ็นต์ และไทย 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ธนาคารโลกอยู่ระหว่างเตรียมงบประมาณช่วยเหลือประเทศต่างๆเพื่อหลุดพ้นจากความยากจนตลอดช่วง 15 เดือนข้างหน้ามากราว 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ.