วงการวิทยาศาสตร์โลกไปไกลถึงขั้นเข้าไปแก้ไขยีน (Gene Editing) ในพืชผักให้ทนต่อโรค แมลง สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก รวมทั้งรองรับปริมาณอาหารที่มีแนวโน้มลดลง สวนทางกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
ขณะที่บ้านเรายังล้าหลังในเรื่องเหล่านี้ เพราะลำพังแค่พืชจีเอ็มโอ ยังกลายเป็นของแสลงไปตามความคิดมโนของเอ็นจีโอ...ไม่ใช่นักวิจัยเราไม่เก่ง แต่เพราะงานวิจัยเดิมที่เคยมีเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอ ที่จะนำมาต่อยอดสู่การแก้ไขยีนกลายเป็นของต้องห้าม ทุกอย่างเลยสะดุดไปหมด
ล่าสุด Agrisea บริษัททางการเกษตร นิวซีแลนด์ ประสบความสำเร็จกับการทดลองแก้ไขยีนในข้าว ให้ปลูกในมหาสมุทรได้ ทั้งทนเค็ม ไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ย น้ำจืด หรือแม้กระทั่งดิน
ปลูกข้าวได้เหมือนกอผักตบลอยน้ำ...โดยขณะนี้สามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการพันธุศาสตร์พืชได้แล้ว
โดยนักวิจัย Agrisea ใช้ยีนในข้าวซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการขับไล่เกลือ การหุ้มเซลล์ และการป้องกันสารพันธุกรรม และเพิ่มการแสดงออกของยีนเหล่านี้ เมื่อยีนเหล่านี้มารวมกันจะทำหน้าที่ในลักษณะเครือข่ายธรรมชาติ ช่วยให้ข้าวเจริญเติบโตได้เหมือนข้าวปกติ ขณะที่ฟาร์มข้าวกลางทะเลจะทำหน้าที่เป็นตัวกรอง ดูดซับสิ่งต่างๆ ให้กับทะเล
บริษัทวางแผนที่จะทำฟาร์มนำร่องขนาดเล็กแห่งแรกในทะเลภายในสิ้นปีนี้ และทำฟาร์มนำร่องขนาดใหญ่หลายแห่งในมหาสมุทร ปลายปี 2564 ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับประเทศผู้ผลิตข้าวและผู้บริโภครายใหญ่อย่าง ไนจีเรีย, จีน, เวียดนาม, บังกลาเทศ, นิวซีแลนด์, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และชิลี เพื่อสร้างฟาร์มมหาสมุทร
ไม่แปลกใจเลยที่ไทยเราแม้จะผลิตและส่งออกข้าวอันดับต้นๆของโลก แต่กลับไม่มีชื่อติดโผกับเขา.
...