ดาวเคราะห์นอกระบบหรือเอ็กโซพลาเน็ต (exoplanet) ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป เพราะทุกวันนี้ข่าวสารการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเรามีมาให้รู้อยู่บ่อยๆ แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์พยายามศึกษาและค้นหาก็คือดาวเคราะห์นอกระบบที่มีศักยภาพเอื้อต่อการอาศัยอยู่ของสิ่งมีชีวิตจะมีอยู่กี่มากน้อย จะมีมนุษย์ต่างดาวอาศัยอยู่หรือไม่ เพื่อหาคำตอบว่ามนุษย์เราไม่ได้อยู่เดียวดายในจักรวาล

เมื่อเร็วๆนี้นักดาราศาสตร์จากสถาบันดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในอังกฤษ รายงานการศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบชื่อ K2-18b ที่เชื่อว่าอาจมีน้ำอยู่ในสถานะของเหลวอยู่ใต้บรรยากาศที่อุดมด้วยก๊าซไฮโดรเจนบนพื้นผิว หลังจากได้ดูข้อมูลเกี่ยวกับมวล รัศมี และบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ที่อยู่ห่างออกไป 124 ปีแสง และใช้แบบจำลองเพื่อค้นหาน้ำ ซึ่งพบว่ามันค่อนข้างคล้ายกับโลก แต่ความยาวรัศมีมากกว่า 2.6 เท่า และมวลใหญ่กว่า 8.6 เท่า ผลวิจัยชี้ว่าสิ่งมีชีวิตสามารถเจริญเติบโตบนดาวเคราะห์ที่ใหญ่กว่าโลกแต่เล็กกว่าเนปจูนเช่นดาวเคราะห์นอกระบบ K2-18b

อย่างไรก็ตาม ขนาดของดาวเคราะห์นอกระบบ K2-18b ดูแล้วน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับดาวเนปจูนที่เล็กกว่าโลกมากกว่า แต่ก๊าซไฮโดรเจนที่ห่อหุ้มดาวกลับไม่หนาแน่นเกินไป ชั้นของน้ำจึงอาจช่วยให้สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ได้ นอกจากนี้ยังพบว่าระดับของสารเคมีอื่นๆ เช่น มีเทนและแอมโมเนียต่ำกว่าที่คาดไว้.