Credit : Jonas Barthel

ซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลถูกเก็บรักษามานานหลายล้านปีได้อย่างไร น่าจะมาจากการถูกฝังอย่างรวดเร็วที่เชื่อว่าเป็นการปกป้องซากสิ่งมีชีวิตจากการสลายตัวโดยจุลินทรีย์ หรือป้องกันสภาพอากาศอันแห้งแล้งรุนแรง อำพันถือเป็นตัวป้องกันซากสิ่งมีชีวิตที่ยอดเยี่ยม สัตว์ขนาดเล็กถูกล้อมรอบด้วยยางหรือเรซินต้นไม้ที่แข็งตัวเมื่อเวลาผ่านไป

ล่าสุด ทีมนักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยบอนน์ ในเยอรมนี ได้ตรวจสอบอำพันขนาด 2 ลูกบาศก์เซนติเมตรที่ได้มาจากสาธารณรัฐโดมินิกัน พบว่ามีขาเล็กๆของกิ้งก่าสกุลอาโนลิส (Anolis) ฝังอยู่ ซึ่งการพบสัตว์มีกระดูกสันหลังในอำพันนั้นหายากมากเนื่องจากส่วนใหญ่จะพบฟอสซิลแมลง นักวิจัยใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจสอบที่กรงเล็บและนิ้วเท้าซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนในก้อนอำพัน จนสามารถระบุได้เท้าขนาดจิ๋วนี้มีอายุราว 15-20 ล้านปี เมื่อใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ระดับไมโครเมตรสแกนก็พบว่าเท้านั้นหักไป 2 แห่ง หนึ่งในรอยหักดูเหมือนมีอาการบวมเล็กน้อย 0เป็นข้อบ่งชี้ว่าสัตว์เลื้อยคลานตัวนี้อาจได้รับบาดเจ็บจากนักล่าในยุคนั้น

ส่วนการแตกหักอื่นๆ เกิดขึ้นหลังจากซากฝังอยู่ในอำพัน และรอยแตกขนาดเล็กของอำพันอาจกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ทำให้สารละลายที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุเล็ดลอดเข้าไปหาซาก นอกจากนี้ คอลลาเจนในกระดูกมีการเสื่อมสลายไปมาก แม้จะมีการเก็บรักษาซากที่ดีเยี่ยมก็ตามแต่โครงสร้างเนื้อเยื่อดั้งเดิมนั้นก็เหลืออยู่น้อยมาก.