หลังจาก ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2563 สถานการณ์ก็เริ่มเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จนคนสงสัยกันว่าใครควรจะมาเป็นนายกฯต่อ การลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ของ ดร.มหาเธร์ ก็เพื่อต้องการให้มีการโหวตเสียง ส.ส.ในสภากันใหม่ (โดยที่แกน่าจะแอบรวบรวมเสียงไว้ได้ครบแล้ว)
ดร.มหาเธร์ทำอย่างนั้นเพราะอยากให้พ้นคำสัญญาสุภาพบุรุษที่ให้ไว้กับอันวาร์ อิบราฮิม ว่าถ้าช่วยกันโค่นอดีตนายกฯนาจิบ จากแนวร่วมแห่งชาติบารีซานได้แล้ว ดร. มหาเธร์จะเป็นนายกฯ เพียง 1 ปี หลังจากนั้นจะให้อันวาร์เป็นนายกฯคนต่อไป
สถานการณ์ในตอนหาเสียงเลือกตั้ง ดร.มหาเธร์ หรืออันวาร์เพียงคนเดียว ไม่มีทางล้มแนวร่วมแห่งชาติบารีซานได้เลย รากฐานทางการเมืองของแนวร่วมแห่งชาติบารีซานที่นาจิบเป็นผู้นำอยู่ในขณะนั้นแข็งแรงมาตั้งแต่ตอนที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2515
หลายคนเข้าใจว่าแนวร่วมแห่งชาติบารีซานมีมาตั้งแต่ตอนที่มาเลเซียเพิ่งได้รับเอกราช ขอเรียนว่าไม่ใช่นะครับ ผมเห็นมีข้อโต้เถียงกันในประเด็นแนวร่วมแห่งชาติตามโซเชียลมีเดียต่างๆ อยู่บ่อยๆ ผมจึงขออนุญาตรับใช้ตรงนี้นิดหนึ่งครับ ว่าโดยปกติการเมืองในมลายูดั้งเดิมมีลักษณะเป็นกลุ่มการเมืองที่แบ่งแยกกันตามเชื้อชาติ มีพรรคการเมืองของกลุ่มชนเชื้อชาติมลายู เชื้อชาติจีน และเชื้อชาติอินเดีย
มีพรรคอัมโนเป็นของกลุ่มชนเชื้อชาติมลายู พรรคเอ็มซีเอของกลุ่มชนเชื้อชาติจีนในมลายู และพรรคเอ็มไอซีของกลุ่มชนเชื้อชาติอินเดียในมลายู พ.ศ.2497 พรรคการเมืองของกลุ่มเชื้อชาติทั้งสามรวมตัวกันในรูปแบบสหพันธ์ตั้งขึ้นเป็นสหพรรค โดยยึดหลักความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มชนเชื้อชาติต่างๆ
สหพรรคประกาศอุดมการณ์ว่าจะไม่ถือความแตกต่างทางเชื้อชาติและผลประโยชน์ตามกลุ่มเชื้อชาติมาเป็นเครื่องแบ่งแยก แต่จะทำเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทางการเมือง สหพรรคจึงกลายเป็นพรรคการเมืองสำคัญที่มีบทบาททางการเมืองมลายูมาตลอด
...
การเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากได้รับเอกราชแล้วเมื่อ พ.ศ.2500 และการเลือกตั้งครั้งต่อๆมาใน พ.ศ.2507 และ พ.ศ.2512 สหพรรคได้รับคะแนนเสียงข้างมากและได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศติดต่อกันมาทุกสมัย
แม้สหพรรคจะผูกขาดอำนาจทางการเมืองมาโดยตลอด แต่สหพรรคก็ถูกโจมตี เพราะคนต่างเห็นแก่เชื้อชาติและผลประโยชน์ของกลุ่มตน คนมลายูของแท้บางกลุ่มในพรรคจึงเรียกร้องให้พรรคอัมโนแยกตัวออกจากสหพรรค เพราะไม่ต้องการรวมอยู่กับพรรค MCA ของคนจีน และพรรค MIC ของคนอินเดียอีกต่อไป
สหพรรคตามโครงสร้างพรรคเดิมจึงสิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ.2515 แต่อิทธิพลและปรัชญาตลอดจนความเป็นผู้นำทางการเมืองของสหพรรคเดิมยังคงสืบทอดต่อมาในนามของ Barisan National Front หรือแนวร่วมแห่งชาติบารีซาน
ทั้ง ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายนาจิบ ราซัค ต่างเคยเป็นนายกรัฐมนตรีในนามแนวร่วมแห่งชาติ หรือแม้แต่อันวาร์ อิบราฮิม ก็เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังในนามแนวร่วมแห่งชาติ (สมัย ดร.มหาเธร์เป็นนายกฯ)
นายมูย์ยัดดิน ยัสซิน คนที่สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ ชะห์ ทรงแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีและให้สาบานตนเมื่อ 1 มีนาคม 2563 ก็เคยเป็นสมาชิกคนสำคัญของอัมโนที่อยู่ในแนวร่วมแห่งชาติและเป็นรองนายกรัฐมนตรี (สมัยนายนาจิบเป็นนายกฯ ระหว่าง พ.ศ.2552-2558)
คนมาเลเซียจับตามองว่าใครจะชนะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ระหว่าง ดร.มหาเธร์และอันวาร์ มีเสียงเชียร์อันวาร์กันกระหึ่ม (คงสงสารว่าถูก ดร.มหาเธร์หักหลัง)
แต่หวยมาตกที่ยัสซิน สำนักพระราชวังมาเลเซียบอกว่านายยัสซินได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากสมาชิกสภา จึงได้รับสิทธิ์ในการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
อันวาร์ผิดหวังอีกครั้ง
ดร.มหาเธร์ตะโกนลั่นว่า อยากให้สภาโหวตเพื่อจะดูว่ายัสซิน ได้เสียง ส.ส.มากที่สุดจริงหรือไม่.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com