ระยะแรกของการระบาดของโรคโควิด-19 มีพิธีกรท่านหนึ่งพูดในรายการโทรทัศน์ว่า มณฑลต้นกำเนิดของเชื้อไวรัสนี้คือเหอเป่ย์ ซึ่งไม่ใช่นะครับ วันนี้นึกเรื่องนี้ขึ้นมาได้ ผมจึงขอเรียนรับใช้ครับว่า ‘เหอเป่ย์’ กับ ‘หูเป่ย์’ เป็นคนละมณฑลกัน

‘เหอเป่ย์’ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ริมทะเลโป๋ไห่ที่เป็นส่วนหนึ่งของทะเลเหลือง เมื่อพูดถึงกรุงปักกิ่งและมหานครเทียนจิน ทั้งสองเมืองใหญ่นี่อยู่ในดินแดนของมณฑลเหอเป่ย์ แต่ทั้งปักกิ่งและเทียนจินมีสถานะเป็นเทศบาลนครที่ไม่ขึ้นการปกครองกับมณฑลเหอเป่ย์ เหอเป่ย์จึงมีพื้นที่โอบล้อมมหานครใหญ่ของจีนถึง 2 แห่ง

พื้นที่ราบของมณฑลเหอเป่ย์นี่สมบูรณ์มาก ดินดี ปลูกอะไรก็ขึ้น เทือกเขาในเหอเป่ย์มีทรัพยากรธรรมชาติเยอะ เมืองหลวงของมณฑลเหอเป่ย์ไม่ได้ชื่อว่า ‘อู่ฮั่น’ อย่างที่ท่านรายงานนะครับ ทว่ามีชื่อว่า ‘ฉือเจียจวง’ ท่านที่เคยได้ยินชื่อเสียงด้านความเจริญของเมืองเป่าติ้ง ถังชาน ฮั่นตาน หรือชิงหวางเต่า เหล่านี้ต่างเป็นเมืองในมณฑลเหอเป่ย์ทั้งสิ้น

ส่วน ‘หูเป่ย์’ เป็นมณฑลตอนกลางที่ค่อนไปทางตอนใต้ของจีน อยู่ติดกับมณฑลเหอหนาน อานฮุย เจียงซี หูหนาน ซื่อชวน และฉ่านซี หูเป่ย์เป็นสถานที่เริ่มต้นของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพียงมณฑลเดียวมีพื้นที่ใหญ่กว่าภาคอีสานของไทย แต่พื้นที่ 1 ใน 3 เป็นเทือกเขา ที่เหลือเป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำหยางจื่อหรือแยงซีและแม่น้ำฮั่น

...

พูดถึงหูเป่ย์ ผู้คนก็มักจะนึกถึงเทือกเขา ‘เทือกเขาชื่อเป่า’ กั้นหูเป่ย์กับมณฑลหูหนาน ‘เทือกเขาชิงหลิงชาน’ และ ‘เทือกเขาถงไป่’ กั้นหูเป่ย์กับมณฑลเหอหนาน ‘เทือกเขาต้าเปีย’ กั้นหูเป่ย์กับมณฑลเหอหนานกับมณฑลอานฮุย ‘เทือกเขามู่ฝู่’ กั้นหูเป่ย์กับมณฑลเจียงซี นอกจากนั้นยังมีเทือกเขาอะไรอีกหลายแห่ง เช่น ‘เทือกเขาอู่ตาง’ ‘จิงชาน’ ‘อู่ชาน’ และ ‘ต้าปา’ เทือกเขาเหล่านี้มีสัตว์ป่าเยอะ แต่ละถ้ำเต็มไปด้วยค้างคาวเป็นแสนนับล้านชีวิต

หูเป่ย์มีประชากรถึง 60 ล้าน เป็นมณฑลเจริญ หลายครั้งที่ผมพาพ่อมาต่อรถไฟความเร็วสูงที่สถานีหูเป่ย์ ที่นี่มีสนามบินนานาชาติที่มีขนาดใหญ่รองจากสนามบินปักกิ่ง ใครจะไปต่างประเทศมักจะมาต่อเครื่องที่สนามบินนานาชาติของมณฑลหูเป่ย์

เมืองหลวงของมณฑลเหอเป่ย์คือ ‘ฉือเจียจวง’ แต่เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย์คือ ‘อู่ฮั่น’ อู่ฮั่นเกิดจากการรวมเมืองเก่าแก่ 3 เมืองเข้าด้วยกันคือ ฮั่นโข่ว ฮั่นหยาง และอู่ชาง เป็นเมืองมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ในอดีตมักถูกใช้เป็นศูนย์กลางในการปฏิวัติหลายครั้ง

นักโบราณคดีจากทั่วโลกขอเข้ามามีส่วนร่วมในการขุดค้นทั้งที่มณฑลเหอเป่ย์และหูเป่ย์ 93 ปีที่แล้ว นักโบราณคดีชาวแคนาดาไปขุดที่ ‘ถ้ำโจวโขว่เตี้ยน’ ของมณฑลเหอเป่ย์ เจอชิ้นส่วนกระดูกของสิ่งมีชีวิต 40 โครง และเจอเครื่องใช้หินขัดกว่า 1 แสนชิ้น เมื่อ พ.ศ.2530 ยูเนสโกประกาศให้บริเวณที่ขุดเจอชิ้นส่วนกระดูกและเครื่องใช้หินขัดเป็นมรดกโลก

นักโบราณคดียอมรับว่าที่ราบเหอเป่ย์เคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์ปักกิ่งเมื่อ 2-7 แสนปีที่แล้ว การขุดสำรวจอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจอการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคหินใหม่อีกหลายแห่ง เอาไปตรวจตามวิธีทางวิทยาศาสตร์ ก็พบชุมชนดั้งเดิมเมื่อ 5-8 พันปีก่อนคริสต์ศักราช ขุดเจอหมดครับ ทั้งเคียวหิน โม่หิน เครื่องปั้นดินเผาไม่เขียนสี ฯลฯ

ส่วนความเก่าแก่ของหูเป่ย์ก็ไม่เบา ขุดเจอหลักฐานทางโบราณคดีที่ทำให้มั่นใจว่า มีมนุษย์อาศัยอยู่ในมณฑลนี้มาตั้งแต่ 8 พันปีก่อนคริสต์ศักราช เมื่อปีที่แล้ว ผมพาอาจารย์ นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ไปเยือนสถานที่หลายแห่งของหูเป่ย์ที่สมัยอยู่รวมกับดินแดนของมณฑลหูหนานเป็นแคว้นโจวแห่งเจียงซู ที่มีขุนศึกดังๆอย่างเช่นหลินเปียว เก๋าเก๋า ที่สู้กันในสงครามผาแดง เรื่องของมณฑลเหอเป่ย์และหูเป่ย์น่าสนใจมากครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com