ช่วงไม่กี่วันมานี้มีข่าวคราวในแวดวงอวกาศที่น่าสนใจแบบที่เรียกว่าเป็น “บิ๊ก นิวส์” ก็ว่าได้ ข่าวแรกคือนักดาราศาสตร์ของโครงการคาตาลินา สกาย เซอร์เวย์ (Catalina Sky Survey) ของมหาวิทยาลัยอริโซนา ประกาศการค้นพบดวงจันทร์ขนาดเล็กที่เรียกว่า “มินิมูน” (minimoon) ผ่านบัญชีทวิตเตอร์
นักดาราศาสตร์ระบุว่า ดวงจันทร์นี้เป็นดาวเคราะห์น้อย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1.9-3.5 เมตร เข้ามาอยู่ในวงโคจรของโลกชั่วคราว แต่เข้ามาอยู่แล้วก็ควรมีชื่อสักหน่อย ดังนั้น ไมเนอร์ พลาเน็ท เซ็นเตอร์ (Minor Planet Center) ที่เป็นหน่วยงานหนึ่งของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล จึงตั้งชื่อดวงจันทร์น้องใหม่ว่า “2020 CD3”
ล่าสุดมีนักศึกษาด้านดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ในแคนาดา ชื่อมิเชล คูนิโมโตะ เผยการ ค้นพบดาวเคราะห์ใหม่ 17 ดวง รวบรวมข้อมูลมาจากภารกิจยานอวกาศเคปเลอร์ขององค์การนาซา ปลดระวางไปเรียบร้อยเมื่อปลายปี พ.ศ.2561 ยานเคปเลอร์ได้เฝ้ามองหาดาว เคราะห์ที่อยู่ในเขตเอื้ออาศัยได้ (Habitable Zones) โดยเชื่อว่ามีน้ำในสถานะของเหลวอยู่บนพื้นผิวดาวเคราะห์หินเหล่านั้น
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ คูนิโมโตะพบว่า มีดาวเคราะห์ดวงหนึ่งใน 17 ดวงนั้น มีขนาดเท่าโลกและดูเหมือนจะมีศักยภาพเอื้อต่อการอาศัยอยู่ได้ของสิ่งมีชีวิต ดาวเคราะห์ดวงนี้ได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า KIC-7340288 b มีขนาดเพียง 1 เท่าของโลก อยู่ห่างออกไปประมาณ 1,000 ปีแสง ส่วนดาวเคราะห์อีก 16 ดวงนั้น ถูกระบุว่าดวงที่มีขนาดเล็กที่สุดมีขนาดเพียง 2 ใน 3 ของโลก ส่วนดาวเคราะห์ที่เหลือจากนี้มีขนาดใหญ่กว่าโลกถึง 8 เท่า
...
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ผลงานแรกของคูนิโมโตะ ก่อนหน้านี้เธอเคยค้นพบดาวเคราะห์มาแล้ว 4 ดวงในช่วงศึกษาระดับปริญญาตรี เธอเผยว่า ทุกครั้งที่ดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์มันจะกั้นส่วนหนึ่งของแสงของดาวและทำให้ความสว่างของดาวลดลงชั่วคราว นอกจากนี้ เธอยังสังเกตการณ์ดาวเคราะห์และประเมินว่ามีดาวเคราะห์กี่ดวงที่คาดว่าจะมีอุณหภูมิแตกต่างกัน โดยหวังผลว่าจะค้นพบอัตราการเกิดของดาวเคราะห์ในเขตเอื้ออาศัยได้ รวมถึงดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกนั้นมีอีกกี่ดวง.
ภัค เศารยะ