สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเกาะติดสถานการณ์การเมืองในมาเลเซีย หลัง ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอย่างกะทันหัน ต้องจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่ ท่ามกลางรายงานข่าวเรื่องความขัดแย้งในกลุ่มพรรคพันธมิตรรัฐบาลปากาตัน ฮาราปัน ที่ ดร.มหาเธร์ก่อตั้งร่วมกับนายอันวาร์ อิบราฮิม ทายาทอำนาจและอดีตคู่แข่งทางการเมือง เพื่อโค่นขั้วอำนาจเก่าพรรคองค์การสหชาติมาเลเซียหรืออัมโน ในการเลือกตั้งปี 2561 เนื่องจากการลาออกมีขึ้น 3 วันหลังที่ประชุมพรรคพันธมิตร ตกลงให้ ดร.มหาเธร์เป็นผู้กำหนดเวลาสละอำนาจ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีสัญญาใจกับนายอันวาร์ ว่าจะผลักดันนายอันวาร์ขึ้นเป็นผู้นำก่อนหมดวาระปี 2566
ทั้งนี้ สำนักพระราชวังมาเลเซียเปิดเผยว่า สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่าน อับดุลเลาะห์ ชะห์ กษัตริย์มาเลเซีย ทรงตัดสินใจดำเนินการอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเรียกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 222 คน เข้าเฝ้าและชี้แจงจุดยืนเป็นรายบุคคล เพื่อดูความเหมาะสมในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ระหว่างวันที่ 25-26 ก.พ. กระบวนการนี้ยังรวมถึงแกนนำพรรคการเมืองต่างๆ และนายนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งถูกข้อกล่าวหาทุจริต พร้อมพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.มหาเธร์ดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทั้งยุบคณะรัฐมนตรี
ขณะที่สื่อท้องถิ่นมาเลเซียรายงานว่า แกนนำระดับสูงของพรรคเบอร์ซาตู รวมทั้งกลุ่มพันธมิตรการเมืองต่างๆได้เดินทางเข้าพบ ดร.มหาเธร์ ในวันเดียวกัน ซึ่งต่อมาสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อ 4 คน ที่เข้าหารือครั้งนี้ระบุว่า ดร.มหาเธร์เสนอแผนการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เป็นรัฐบาลที่ไม่ต้องมีชื่อพรรค สมาชิกจะมีทั้งนักการเมืองจากกลุ่มพันธมิตร และพรรคที่พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 2561
...
ก่อนหน้านี้ สื่อท้องถิ่นมาเลเซียยังรายงานว่า มีการปล่อยข่าวในวงการเมือง ว่าพรรคอัมโน ขั้วอำนาจเก่า มีความสามารถที่จะตั้งกลุ่มพันธมิตรรัฐบาลใหม่ ซึ่งสมาชิกจะรวมถึงกลุ่มการเมืองอิสลามสายเคร่ง พรรคเกาะบอร์เนียว และพรรคเบอร์ซาตูของ ดร.มหาเธร์ ขณะที่นายอันวาร์ อิบราฮิม กล่าวหลังเข้าหารือกับ ดร.มหาเธร์ว่า ดร.มหาเธร์ไม่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสมคบคิดทางการเมืองใดๆ และเรื่องนี้ได้ขอ ดร.มหาเธร์แล้วว่าไม่ให้ลาออก ให้อยู่ร่วมกันไปเพื่อเอาชนะกลุ่มการเมืองที่จ้องทำลาย แต่ ดร.มหาเธร์ไม่ยอม การตัดสินใจลาออกเป็นเพราะว่า ดร.มหาเธร์ ไม่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับขั้วอำนาจเก่า ที่ท่านต้องพยายามอย่างหนักกว่าจะเอาชนะได้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
นอกจากนี้ กลุ่มนักวิชาการในมาเลเซียระบุว่าการลาออก ได้ส่งผลให้กลุ่มเคลื่อนไหว เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะการกระทำเช่นนี้ไม่ต่างกับการเมืองยุคเก่าในอดีต และพร้อมที่จะจัดการชุมนุม หากได้รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย.