แดเนียล อาหรับ โมอี อดีตประธานาธิบดีเคนยาผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ขณะมีอายุ 95 ปี
สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า นายแดเนียล อาหรับ โมอี อดีตประธานาธิบดีของประเทศเคนยา ผู้อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง 24 ปี ถึงแก่อสัญกรรมแล้วที่โรงพยาบาลในกรุงไนโรบี เมื่อช่วงเช้ามืดวันอังคารที่ 4 ก.พ. 2563 ขณะมีอายุ 95 ปี โดยไม่มีการเปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิต แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เขาต้องเข้าโรงพยาบาลหลายครั้งจากโรคจิตเสื่อม และภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด
ประธานาธิบดี อูฮูรู เคนยัตตา แห่งเคนยาเป็นผู้ประกาศข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของนายโมอี โดยระบุว่า “ด้วยความโศกเศร้าอย่างที่สุด ผมขอประกาศข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของเคนยา” เขายังออกคำสั่งให้มีช่วงเวลาไว้อาลัยต่อการจากไปของนายโมอี และให้ลดธงลงครึ่งเสา จนกว่าพิธีศพของนายโมอีจะจัดขึ้น แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไร
...
ทั้งนี้ นายโมอีเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของเคนยา ปกครองประเทศตั้งแต่ปี 2521-2545 นำพาการปกครองด้วยอำนาจเด็ดขาดมาสู่เคนยา หลังจากปกครองได้ 4 ปี ทหารกองทัพอากาศจำนวนหนึ่งก็พยายามก่อรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ นับแต่นั้น นายโมอีก็เริ่มปกครองอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น ปลดคู่แข่งทางการเมืองทุกคน และลดอิทธิพลของขั้วอำนาจเก่าในคณะรัฐมนตรีของตัวเองด้วย
นายโมอี พยายามแก้รัฐธรรมนูญให้พรรคคานู (KANU) ของเขาเป็นพรรคการเมืองถูกกฎหมายเพียงพรรคเดียวของประเทศ แต่ต้องเจอกระแสต่อต้านอย่างหนักทั้งในและชาติตะวันตก จนเขาต้องกลับมาสู่เส้นทางประชาธิปไตยในปี 2533 และคืนสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งแก่พรรคฝ่ายค้าน ก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีต่อมา ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งแบบหลายพรรคครั้งแรกของเคนยา โดยผู้ชนะคือนายโมอี ท่ามกลางข้อครหาว่า พรรคของเขาโกงการเลือกตั้ง
นายโมอีถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลในระดับนานาชาติสูงมาก เขาเป็นผู้รวมประเทศในแอฟริกาตะวันออกอย่าง ยูกันดา และแทนซาเนีย มาเข้าร่วมกลุ่มการค้า ก่อนที่ประชาคมแอฟริกันตะวันออก จะกำเนิดขึ้นในปี 2542 นายโมอียังมีส่วนรวมในการคืนความสงบในประเทศชาด, เป็นประธานการเจรจาจนเกิดการลงประชามติ จบสงครามกว่า 30 ปีระหว่างซูดานกับซูดานใต้ นำไปสู่การก่อตั้งประเทศ ซูดานใต้ ในเดือนกรกฎาคม 2554
มรดกสำคัญอีกชิ้นที่นายโมอีทิ้งไว้คือ การขยายขอบเขตการศึกษาระดับสูงในประเทศ โดยเคนยาเปิดมหาวิทยาลัยแห่งที่ 2 ของประเทศในยุคของนายโมอี ก่อนที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ จะทยอยเปิดตามมา รวมทั้งสถาบันศึกษาเอกชน จนถึงทุกวันนี้ เคนยามีมหาวิทยาลัยมากกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ