24.00 น. (เวลากรุงบรัสเซลส์) หรือ 23.00 น. (เวลากรุงลอนดอน) ของคืนวันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2563 เป็นต้นไป สหราชอาณาจักรไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอีกต่อไป ผมได้ฟังคลิปอภิปรายของสมาชิกสภายุโรปที่พูดจากันไปมาแล้วก็มีการลงมติด้วยคะแนนเสียง 621 ต่อ 49 เห็นชอบข้อตกลงเบร็กซิต คือให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป
บรรยากาศของสภายุโรปเมื่อวันพุธที่แล้วมีหลายช่วงสะเทือนอารมณ์จนสมาชิกสภาบางคนกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ใครจะนึกเล่าครับ สหราชอาณาจักรที่มาเป็นสมาชิกขององค์กรนี้ตั้งแต่ พ.ศ.2516 เวลาผ่านไป 47 ปี อังกฤษก็ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ทั้งคนอังกฤษและคนของชาติสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นอีก 27 ชาติก็คงจะใจหายนะครับที่เห็นธงชาติสหราชอาณาจักร ถูกถอดออกจากสำนักงานสหภาพยุโรป
31 มกราคม 2563 คือวันเบร็กซิต หลังจากนี้ไปก็จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งช่วงเปลี่ยนผ่านจะมีไปจนถึง 31 ธันวาคม 2563 ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้สหราชอาณาจักรยังคงอยู่ในสหภาพศุลกากรอียูและตลาดเดียวของอียู กฎระเบียบยังเหมือนเดิมจนถึงช่วงเปลี่ยนผ่านสิ้นสุดลง คนอังกฤษยังคงไปมาหาสู่กับสมาชิกอียู 27 ประเทศได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมพิเศษ ไม่ต้องยุ่งเรื่องศุลกากร ใบขับขี่และหนังสือเดินทางสัตว์เลี้ยงยังใช้ได้ สิทธิในการอยู่อาศัยของผู้คนยังเหมือนเดิม
ช่วงเปลี่ยนผ่าน (1 ก.พ.–31 ธ.ค. 2563) คนอังกฤษยังไม่น่าจะรู้สึกเสียดงเสียดายอะไรกันมาก ในช่วงนี้ก็เพียงแต่สหราชอาณาจักรในฐานะชาติรัฐเท่านั้นที่จะเสียสมาชิกภาพในสถาบันการเมืองอย่างรัฐสภายุโรป หรือในคณะกรรมาธิการยุโรป อังกฤษไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติ แต่ยังต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของอียู เมื่อมีข้อพิพาท อังกฤษก็ต้องฟังศาลยุติธรรมสหภาพยุโรป
...
ที่ต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่านก็เพราะทั้งสองฝ่าย (สหราชอาณาจักรและชาติสมาชิกอียู 27 ประเทศ) ต้องมาคุยกันว่าความสัมพันธ์จะเป็นยังไงหลังจากที่อังกฤษหอบข้าวของออกจากครอบครัวไปแล้ว และจะต้องมีข้อตกลงใหม่เกิดขึ้น
เมื่อก่อนสหราชอาณาจักรและอียูค้ากันโดยไม่มีภาษีศุลกากร ไม่มีโควตา ไม่มีอุปสรรคทางการค้าอื่น เพราะถือเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน พอพ้นช่วงเปลี่ยนผ่าน 31 ธันวาคม 2563 ก็เป็นคนนอกไปแล้ว ตอนนี้ คนอังกฤษที่ค้าขายกับอีก 27 ประเทศก็คงหายใจไม่ทั่วท้อง คนสหภาพยุโรปที่ส่งของไปขายอังกฤษหรือที่นำของอังกฤษมาขายก็คงต้องเตรียมตัวเตรียมใจเจอปัญหากันละครับ
เมื่อก่อน สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป มีเอฟทีเออียู-ออสเตรเลีย เอฟทีเออียู-สหรัฐอเมริกา ฯลฯ มีข้อตกลงการค้าเสรีต่อกัน แต่ตอนนี้สหราชอาณาจักรไม่ได้เป็นสมาชิกอียูแล้ว อำนาจต่อรองมีกระจิริดกระจ้อยร่อย คราวนี้สหราชอาณาจักรก็ต้องไปเจรจากับประเทศต่างๆ พอถึง 31 ธ.ค. 2563 ถ้ายังเจรจาไม่เสร็จ ก็จะเจอเรื่องยุ่ง ทั้งภาษีศุลกากร โควตา อุปสรรคทางการค้าอื่นๆ
ถ้าสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ภายใน 31 ธ.ค. 2563 พอถึง 1 ม.ค. 2564 ความโกลาหล อลหม่านจะเกิดขึ้นแน่ จะค้าขายกัน ก็ต้องไปใช้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก คนอังกฤษเดือดร้อนเพราะสินค้าจากอียูที่ตัวเองจะบริโภคก็จะมีราคาสูงขึ้น (เพราะมีภาษีศุลกากร) สินค้าอังกฤษก็ขายในอียูได้ยากขึ้น (เพราะมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากโดนภาษีศุลกากร)
นายกรัฐมนตรีจอห์นสันให้สัญญาว่าตัวเองจะทำให้เบร็กซิต ผ่านให้ได้ในวันที่ 31 ม.ค. 2563 ซึ่งแกก็ทำได้ตามสัญญา แต่เป็นการออกจากอียูที่ยังต้องมีเรื่องการเจรจาอีกบานเบอะเยอะแยะรออยู่
เจรจาเสร็จ ก็ต้องให้ข้อตกลงผ่านการอนุมัติหรือให้สัตยาบัน 31 ธ.ค. 2563 นั่นละครับ สหราชอาณาจักรจึงจะเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่กับอียูของจริง
แต่ถ้าไม่ผ่าน สหราชอาณาจักรก็ต้องออกจากช่วงเปลี่ยนผ่านโดยไม่มีข้อตกลงการค้า
หลังจากนั้น ถึงจะรู้ว่าการออกจากอียูครั้งนี้ สหราชอาณาจักรเจอนรกหรือสวรรค์.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย