บริษัท โตโยต้า และ ฮอนด้า ประกาศเรียกคืนรถยนต์ในทวีปอเมริการวมกว่า 6 ล้านคัน หลังพบปัญหาด้านความปลอดภัยที่อาจทำให้ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน
สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เมื่อวันพุธที่ 22 ม.ค. 2563 บริษัท โตโยต้า และ ฮอนด้า 2 ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น ประกาศเรียกคือนรถยนต์จำนวนรวมกว่า 6.1 ล้านคันทั่วโลก โดยส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ หลังจากพบความบกพร่องในระบบรักษาความปลอดภัย ที่อาจทำให้ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน
บริษัท โตโยต้า เรียกคืนรถยนต์รุ่น โคโรลลา, โคโรลลา แมทริกซ์, อาวาลอน และ อาวาลอน เอชวี ที่ผลิตระหว่างปี 2553-2562 จำนวน 3.4 ล้านคันทั่วทวีปอเมริกา โดย 2.9 ล้านคนในจำนวนนี้อยู่ในสหรัฐฯ หลังจากพบปัญหาที่ ‘หน่วยควบคุมอิเล็กทรอนิกส์’ (ECU) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยปกป้องผู้โดยสารกรณีที่เกิดการชน โดยตามปกติแล้ว ECU จะสื่อสารกับเซนเซอร์ของรถ และเปิดถุงลมนิรภัยกับยึดเข็มขัดนิรภัยให้แน่นขึ้น เพื่อลดอาการบาดเจ็บ
แต่โตโยต้าพบว่า ECU อาจทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากสัญญาณรบกวนไฟฟ้า (electrical noise) อาจเข้าไปขัดขวางการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ได้ ซึ่งพวกเขาจะแจ้งเจ้าของรถที่ได้รับผลกระทบทุกคนในอเมริกาภายในกลางเดือนมีนาคม เพื่อให้นำรถมาตรวจสอบ และอาจมีการติดตั้งฟิลเตอร์ป้องกันสัญญาณรบกวนให้หากจำเป็น
ขณะที่ ฮอนด้า ต้องปวดหัวกับปัญหาถุงลมนิรภัยของบริษัท ‘ทาคาตะ’ อีกครั้ง โดยพวกเขาเรียกคืนรถยนต์ 2.7 ล้านคันในอเมริกาเหนือ แบ่งเป็นในสหรัฐฯ 2.4 ล้านคน และในแคนาดาอีก 3 แสนคัน โดยเป็นรถยนต์แบรนด์ อาคิวรา ที่ผลิตในปี 2539-2546 เนื่องจากระบบสูบลมถุงลมนิรภัยอาจทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งฮอนด้าจะให้ผู้ได้รับผลกระทบมาตรวจสภาพลงทะเบียนเพื่อนำรถเข้าตรวจสอบ แต่ต้องใช้เวลาราว 1 ปี กว่าจะเริ่มตรวจสอบและซ่อมแซมได้ เพราะขาดอะไหล่ทดแทน
...
อย่างไรก็ตาม ฮอนด้า ยืนยันว่า ปัญหาที่พบไม่เกี่ยวข้องกับกรณีอื้อฉาวของบริษัท ทาคาตะ ที่ระบบสูบลมในถุงลมนิรภัยของพวกเขาระเบิด โดยเกิดขึ้นหลายกรณีจนทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคนและมีผู้เสียชีวิตถึง 29 ราย จนค่ายรถทั่วโลกกว่า 34 บริษัท ต้องเรียกคืนรถยนต์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และทำให้ทาคาตะต้องยื่นคำร้องขอคุ้มครองการล้มละลาย