มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในสตรี จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อหาสัญญาณแรกสุดของโรคที่บางครั้งไม่แสดงอาการชัดเจน อย่างในสหราชอาณาจักรนั้น แนะนำว่าสตรีอายุมากกว่า 50 ปี ควรมีการตรวจเต้านมทุกๆ 3 ปี ซึ่งผลการวิเคราะห์จะทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยา 2 คน แต่ก็มีโอกาสที่การวินิจฉัยจะมีความคลาดเคลื่อน ดังนั้น การอาศัยปัญญาประดิษฐ์จึงดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ล่าสุด นักวิจัยจากกูเกิล เฮลธ์ (Google Health) เผยว่าได้พัฒนาและทดสอบแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence - AI) เพื่อตรวจหามะเร็งในการสแกนเต้านมของสตรีจำนวนหลายพันรายในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ทีมวิจัยพบว่าแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์สามารถทำนายมะเร็งเต้านมจากการสแกนด้วยระดับความแม่นยำที่ใกล้เคียงกับการถ่ายภาพรังสีของผู้เชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ ปัญญาประดิษฐ์ยังแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนของผู้ป่วยมะเร็งที่ระบุอย่างไม่ถูกต้องนั้นลดลง 5.7% ในสหรัฐอเมริกา และ 1.2% ในสหราชอาณาจักรตามลำดับ นอกจากนี้ยังลดความผิดพลาดของอัตราการตรวจวินิจฉัยลง 9.4% ในสหรัฐอเมริกา และ 2.7% ในสหราชอาณาจักรด้วย อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม แต่ทีมก็หวังว่าเทคโนโลยีนี้จะทำหน้าที่เป็น “ข้อวินิจฉัยที่ 2” สำหรับการวินิจฉัยโรคมะเร็งในวันข้างหน้า.