โอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 66 ของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น เมื่อ 28 เมษายน พ.ศ.2544 รัฐบาลอิรักเชิญอาจารย์นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ไปร่วมฉลองทั้งที่กรุงแบกแดดและเมืองทิกริต บ้านเกิดของซัดดัม

ผมดูจากภาพวิดีโอ พอถึงบ้านเกิดในวันเกิดของซัดดัม คนอิรักที่เดินตามถนนหนทางต่างตะโกนก้องร้องว่า “อุกบาล มาตะอะ อาม บิอิซ นิลลา” แปลเป็นไทยก็น่าจะได้คล้ายกับ “ขอให้ท่านอายุยืนเป็นร้อยปี ด้วยอนุมัติแห่งอัลลอฮฺ”

เมื่อได้ยินเสียงประชาชนคนของตนอำนวยอวยพร ซัดดัมก็จะกล่าวตอบเป็นระยะด้วยประโยคว่า “อินชาอัลลอฮฺ” ซึ่งหมายถึง “ถ้าอัลลอฮฺทรงประสงค์”

งานวันเกิดผ่านไปแล้ว แต่รัฐบาลซัดดัมก็ขอให้อาจารย์อยู่ต่อและให้เจ้าหน้าที่พาตระเวนไปตามเมืองน้อยใหญ่ในประเทศ มีหลายสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าต่อตาอาจารย์ ซึ่งเมื่อเอามาเขียนในเปิดฟ้าส่องโลกเมื่อ พ.ศ.2544 ก็ยากที่ผู้อ่านท่านจะเชื่อได้ง่าย (ต้องยืนยันกันด้วยภาพในรายการเปิดเลนส์ส่องโลกทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 สมัยนั้น)

นอกจากเรื่องเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติบินไปโปรยสารพิษทางตอนใต้ของอิรักแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งคาดไม่ถึงก็คือ มีเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติบินเข้ามาถล่มพิพิธภัณฑ์และโบราณสถานในกรุงแบกแดดและในเมืองอื่นหลายครั้ง

เมื่อมีการนำมาเขียนมาพูดในสังคมไทยสมัยนั้น มีคนจำนวนมากไม่เชื่อ นักวิชาการด้านการระหว่างประเทศบางท่านถึงกับเขียนแย้งอาจารย์ว่า “เป้าหมายที่ศัตรูจะต้องทำลายก็คือฐานที่มั่นทางทหาร ไม่มีใครไปทิ้งระเบิดพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน หรือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นแน่”

...

แต่วันนี้ มีคนออกมายืนยันตามที่อาจารย์นิติภูมิธณัฐเคยพูดเคยเขียนแล้วครับ ท่านผู้นั้นคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ทรัมป์ประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่า “สหรัฐฯกำหนดเป้าหมายโจมตีอิหร่านไว้แล้ว 52 จุด เป็นเป้าหมายระดับสูงที่มีความสำคัญต่ออิหร่านและวัฒนธรรมของอิหร่าน”

กว่าที่ทรัมป์จะมาช่วยยืนยัน เปิดฟ้าส่องโลกต้องรอนานถึง 19 ปี (2544-2563) น่าเสียดายที่ราชการและสถาบันการศึกษาของเราไม่ทุ่มทุนสนับสนุนนักวิชาการให้ออกไปตระเวนโลกเพื่อไปตักตวงความรู้และประสบการณ์ของจริงมาใช้สอนนิสิตนักศึกษา ตำราที่อาจารย์หลายท่านผลิตจึงเป็นเพียงงานแปลจากตำราตะวันตก ซึ่งอาจารย์ตะวันตกพวกนั้นก็อาจจะมีข้อมูลไม่ครบด้าน เพราะ ไม่เคยได้ไปสัมผัสสถานการณ์จริงและสถานที่จริงเหมือนกัน

เพื่อจะให้ได้ครองโลกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สหรัฐฯและตะวันตกต้องทำลายอดีตอันรุ่งเรืองของ 3 ชาติอิสลาม คือ ซีเรีย อิรักและอิหร่านให้ได้ สองชาติแรกเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ส่วนอิหร่านเป็นบ่อเกิดของอารยธรรมเปอร์เซียอันยิ่งใหญ่

ผมขอนำสองย่อหน้าแรกของเปิดฟ้าส่องโลก ฉบับวันพุธที่ 12 มีนาคม 2546 เรื่องอาลัยแบกแดด (2) มารับใช้หน่อยครับ คอลัมน์ฉบับวันนั้นเริ่มต้นด้วยข้อความว่า....

“เขียนอาลัยกรุงแบกแดดของสาธารณรัฐอิรักไปแล้ว อีกไม่นานนิติภูมิก็คงจะต้องเขียนอาลัยกรุงเตหะราน เมืองหลวงของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านค่อนข้างแน่”

“วันนี้พลเอก โคลิน เพาเวลล์ รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯหางโผล่ เรื่องที่ในอนาคตอาจจะต้องเข้าไปจัดระเบียบประเทศมุสลิมอิหร่าน ด้วยการประกาศว่าอิหร่านมีการสะสมและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธชีวภาพ”

ผู้อ่านท่านหนึ่งไลน์มาถามผม ซึ่งขณะนี้ผมกำลังตามอาจารย์นิติภูมิธณัฐอยู่ที่เมืองคอร์เนอร์บรูกและแฮลิแฟกซ์ของแคนาดาว่า “มีโอกาสไหมที่จะมีการถล่มกัน” คำถามประเภทนี้เคยมีมาก่อนตอนที่จะมีการทำลายวัฒนธรรมและแหล่งโบราณคดีของอิรักและซีเรีย

ตอนนั้นหลายคนวิเคราะห์ว่า อ้า เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้ามีสงคราม เศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกจะย่อยยับอับปางนางนอน

หากอยากทราบคำตอบ ผมต้องขอให้ผู้อ่านท่านที่ถามลองหลับตาจินตนาการย้อนนึกถึงพัฒนาการของการทำลายล้างอย่างที่อิรักและซีเรียมีประสบการณ์มาก่อน

นี่คือ “The Long Term Perspective Plan” ของสหรัฐฯ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com 

อ่านข่าวเพิ่มเติม