วิกฤติสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวต่างออกมาเตือนถึงหายนะที่จะเกิดขึ้นหายนะร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นหากปล่อยปัญหานี้ไว้โดยไม่แก้ไข

หายนะร้ายแรงที่ว่าเริ่มปรากฏออกมาให้เห็นแล้วในรูปแบบของภัยธรรมชาติที่รุนแรงกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) เพราะได้รับอิทธิพลจากภาวะโลกร้อน ซึ่งตลอดปี 2019 ทั่วโลกก็ได้เผชิญกับหายนภัยทางธรรมชาติหลายต่อหลายครั้ง

*ไฟป่าออสเตรเลีย

นับหนึ่งในเหตุการณ์ใหญ่ที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก โดยไฟป่าที่เริ่มลุกไหม้อย่างควบคุมไม่อยู่ขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน ทำให้เกิดมลภาวะปกคลุมพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลายเมืองตั้งแต่นครซิดนีย์ไปจนถึงบริสเบนถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควันนานหลายสัปดาห์ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย บ้านเรือนถูกทำลายมากกว่า 700 หลัง

เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โฆษกสำนักงานสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียยืนยันว่า วิกฤติไฟป่าและฝุ่นควันครั้งนี้ ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ทั้งยังเกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนาน และเป็นวงกว้างที่สุดด้วย

...

ไฟป่าเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในออสเตรเลีย แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไฟป่ากลับเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงกว่าปกติ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าเป็นผลจากภัยแล้งที่ยาวนานขึ้นอันเป็นผลจากภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งชาวซิดนีย์กว่า 20,000 คนออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการแก้ปัญหาสภาพอากาศโดยเร็ว

*ไซโคลนในเอเชียใต้

ปีนี้มีไซโคลนขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 ลูกพัดเข้าเล่นงานชายฝั่งของประเทศอินเดียและบังกลาเทศ เริ่มจากในเดือนพฤษภาคม ‘ไซโคลนฟานิ’ เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งทางตะวันออกของอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 34 รายในแดนภารตะและอีก 5 รายในบังกลาเทศ บ้านเรือนจำนวนมากได้รับความเสียหาย เสาไฟฟ้าหักโค่นระบบไฟฟ้า, ประปา และการสื่อสารใช้การไม่ได้

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ‘ไซโคลนบุลบุล’ ขึ้นฝั่งบริเวณใกล้ชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 24 รายและต้องอพยพผู้คนกว่า 2 ล้านคนในบังกลาเทศ

พื้นที่ทางตะวันออกของอินเดียและชายฝั่งของบังกลาเทศมักเผชิญกับไซโคลนเป็นประจำ แต่พายุฟานิ ในปีนี้นับเป็นไซโคลนที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปีที่พัดเข้าสู่อินเดีย ขณะที่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบอ่าวเบงกอลต้องเสียชีวิตเพราะพายุหมุนไปหลายแสนราย

*คลื่นความร้อนในยุโรป

เมื่อช่วงกลางปี 2019 ทั่วทวีปยุโรปต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง บางพื้นที่ในฝรั่งเศสมีอุณหภูมิสูงกว่า 45 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก ส่วนที่สเปน, อิตาลี และชาติอื่นๆ ในยุโรปกลาง อุณหภูมิพุ่งขึ้นจนทุบสถิติของแต่ละภูมิภาค ความร้อนสุดโต่งนี้ยังทำให้มีผู้เสียชีวิตในฝรั่งเศสช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม มากกว่าปกติเกือบ 1,500 คนด้วย

ในเดือนพฤศจิกายน ท่ามกลางอุณหภูมิที่เพิ่มสูง นครเวนิสของอิตาลีก็ต้องรับมือกับเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี อันเป็นผลมาจากลมแรงและระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นดันน้ำเข้ามาในเมือง โดยในช่วงพีคที่สุด เมืองถูกน้ำท่วมมากถึง 80% ของพื้นที่ สิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกหลายแห่งเสียหายเพราะน้ำ มหาวิหารซันมาร์โกทรุดโทรมลงไป 20 ปีภายในวันเดียว

...

*ไต้ฝุ่นฮากิบิส

ไต้ฝุ่นฮากิบิสเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม ทำให้เกิดฝนตกหนัก, น้ำท่วม และดินถล่ม คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 70 รายทั่วประเทศ ประชาชนอีกหลายหมื่นคนประสบปัญหาไฟดับ ขณะที่อีกมากกว่า 1 แสนครัวเรือนไม่มีน้ำประปาใช้

ในตอนนั้น หน่วยกู้ภัยต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งกระทรวงกลาโหมต้องเรียกทหารกองกำลังสำรองออกมาช่วยในปฏิบัติการเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤติแผ่นดินไหว-สึนามิ เมื่อปี 2011 (พ.ศ.2554) ขณะที่นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ จัดงบประมาณ 710 ล้านเยนเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย

*ไต้ฝุ่นคัมมูริ

ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ชาวฟิลิปปินส์ต้องรับมือกับไต้ฝุ่นคัมมูริ ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักในภาคกลางของประเทศ มีผู้เสียชีวิต 13 ราย บ้านเรือนพังเสียหาย สนามบิน นินอย อากีโน ต้องปิดทำการครึ่งวันเพื่อป้องกันไว้ก่อน ส่งผลให้เที่ยวบินหลายร้อยเที่ยวถูกยกเลิกหรือล่าช้า

ไต้ฝุ่นคัมมูริยังทำให้เกิดพายุฝนในภาคเหนือ จนหลายเมืองต้องเผชิญกับน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี ประชาชนกว่า 66,000 คนคนต้องอพยพหนีน้ำ พายุลูกนี้ยังมาในช่วงที่ฟิลิปปินส์กำลังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ซึ่งอิทธิพลของมันก็ทำให้การแข่งขันกีฬาทางน้ำหลายรายการถูกยกเลิกหรือต้องเลื่อนออกไป

...

*เฮอริเคนโดเรียน

แม้แต่ชาวบาฮามาสที่เผชิญพายุหลายลูกในแต่ละปีก็ต้องประหลาดใจกับความรุนแรงของเฮอริเคนระดับ 5 ที่ชื่อว่า ‘โดเรียน’ ลูกนี้เมื่อมันเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งในวันที่ 1 กันยายน ลมกระโชกที่มีความเร็วสูงสุดถึง 320 กม./ชม. สร้างความเสียหายแก้บ้านเรือนจำนวนมหาศาล พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วม แต่ที่ที่เสียหายมากที่สุดคือเมืองมาร์ช ฮาร์บอร์ บนเกาะอาบาโก ซึ่งบ้านเรือนถูกพายุทำลายมากกว่า 75%

จำนวนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการของภัยพิบัติครั้งนี้อยู่ที่อย่างน้อย 63 ราย แต่ยังมีผู้สูญหายอีกหลายร้อยคน ชาวบ้านนับพันต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน อย่างไรก็ตามสื่อท้องถิ่นของบาฮามาสเชื่อว่าจำนวนผู้เคราะห์ร้ายที่แท้จริงน่าจะมากกว่า 3,000 คนทีเดียว

หัวหน้าสภากาชาดบาฮามาสออกมายอมรับว่า พวกเธอคาดไม่ถึงว่าเฮอริเคนโดเรียนจะรุนแรงถึงขนาดนี้ “เราเตรียมรับมือเฮอริเคนแบบที่พวกเราคุ้นเคย แต่เราคาดเดาพลังของโดเรียนไม่ได้” เธอยังบอกด้วยว่า นี่เป็นหายนะจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

...