ไทยผ่านการเสียดินแดนมาแล้วถึง 14 ครั้ง ตั้งแต่เกาะหมากหรือปีนัง (375 ตร.กม.) ทวาย มะริด ตะนาวศรี (55,000 ตร.กม.) บันทายมาศ (ไม่ปรากฏขนาดพื้นที่) เปรัค (62,000 ตร.กม.) แสนหวี เมืองพง เชียงตุง (ไม่ปรากฏขนาดพื้นที่) สิบสองปันนา (60,000 ตร.กม.) กัมพูชา (124,000 ตร.กม.) สิบสองจุไท (87,000 ตร.กม.) ฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน (30,000 ตร.กม.) ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (143,000 ตร.กม.) ฝั่งขวาแม่น้ำโขง (25,500 ตร.กม.) มณฑลบูรพา (51,000 ตร.กม.) ไทรบุรี ปะลิส กลันตัน ตรังกานู (80,000 ตร.กม.) และพื้นที่ปราสาท พระวิหาร (2 ตร.กม.)

ไทยเสียดินแดนไป 717,877 ตร.กม. ถ้ารวมบันทายมาศ แสนหวี เมืองพง เชียงตุง เข้าไปด้วยก็คงอีกเป็นแสนตารางกิโลเมตร พื้นที่ที่เราเหลืออยู่ในปัจจุบันทุกวันนี้ 513,120 ตร.กม. ทุกครั้งที่เดินทางไปเยือนดินแดนที่เสียไป ทำให้เราจินตนาการได้ว่า ในอดีตไทยมีพื้นที่กว้างขวางใหญ่โตขนาดเป็นล้านตารางกิโลเมตร

มีความพยายามลดทอนอำนาจของประเทศใหญ่ด้วยการตัดดินแดนออกไปทีละเล็กทีละน้อย อย่างอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นมหาอำนาจก็โดนตัดแยกออกไป 15 สาธารณรัฐ กลายเป็น 15 ประเทศเอกราชชาติใหม่ จนวันนี้ ไม่มีแล้วที่ชื่อสหภาพโซเวียต

จีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีกลุ่มชาติพันธุ์มากถึง 56 กลุ่ม มีชนบางเผ่ามีความขัดแย้งกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน มีมือที่มองไม่เห็นจากต่างประเทศไปกระตุ้นให้มีการจุดประกายการแบ่งแยกประเทศ เช่น ชนเผ่าอุยกูร์ ชนเผ่าทิเบต หรือชนเผ่ามองโกลในมองโกเลียใน บางประเทศก็ใช้สมาชิกรัฐสภาของตัวเองเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้มีการแยกประเทศ หรือไปแทรกแซงกิจการภายใน

อย่างธันวาคม 2561 สภาคองเกรสสหรัฐฯ มีมติเสียงข้างมาก ผ่านร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่ทิเบต เมื่อพระราชบัญญัติผ่านสภาคองเกรส และประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารลงนามเมื่อ 19 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้

...

ข้อใหญ่ใจความของพระราชบัญญัติการเข้าสู่ทิเบตก็คือ ให้คนอเมริกันสามารถเข้าไปในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีนได้ง่ายขึ้น กว้างขึ้น ไม่ว่านักการทูต นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว ผู้สื่อข่าว ฯลฯ พระราชบัญญัติฉบับนี้มีบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนที่ต่อต้านการเข้าไปสู่ทิเบตได้ง่ายขึ้น กว้างขึ้น มีมาตรการตอบโต้กับข้าราชการจีนเหล่านั้นเป็นรายกรณี

พฤษภาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯลงมติเป็นเอกฉันท์ 414 ต่อ 0 โหวตสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยหลักประกันไต้หวัน

พฤหัสบดี 12 กันยายน 2562 วุฒิสภาสหรัฐฯมีมติเป็นเอกฉันท์ผ่านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยนโยบายปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ ในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีมาตราที่ให้อำนาจรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อบุคคลหรือข้าราชการจีน

เป็นเวลาหลายสิบปีที่สมาชิกสภาคองเกรสทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต่างเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับจีนมากมาย จำนวนไม่น้อยที่เสนอให้ทิเบตเป็นประเทศเอกราชชาติใหม่ โชคดีที่ร่างพวกนี้ไม่ได้ผ่านมติของสมาชิกสภาคองเกรส แต่ก็ยังมีการยื่นร่างพระราชบัญญัติพวกนี้ซ้ำๆ ซากๆ เหมือนกับเป็นการปูทางไว้ เพื่อสร้างความชอบธรรม เมื่อถึงจังหวะเหมาะหรือสถานการณ์ในดินแดนของจีนมีปัญหา บรรดาสมาชิกสภาคองเกรสอาจจะยกมือผ่านร่างพระราชบัญญัติที่เราคิดว่าเป็นร่างฯบ้าๆบอๆเหล่านี้ก็ได้

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาความวุ่นวายในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงที่เกิดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 เป็นต้นมา มีสหรัฐฯและตะวันตกหลายชาติแอบหนุนและให้ความช่วยเหลือผู้ประท้วง สมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐฯเสนอและผ่านร่างพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2562 และทรัมป์ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายบริหารลงนามทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 พฤศจิกายน 2562

ข้อใหญ่ใจความของบทลงโทษของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ รัฐบาลสหรัฐฯสามารถใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่คนใดก็ตามของรัฐบาลจีนที่มีพฤติกรรมแทรกแซงกิจการภายในของฮ่องกง โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้น พระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังห้ามผู้ประกอบการของสหรัฐฯส่งออกสินค้าทางทหารและอุปกรณ์ในการควบคุมฝูงชน แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ฯลฯ ให้สำนักงานตำรวจฮ่องกง

นึกถึงใจเขาใจเรานะครับ รัฐสภาประเทศใดออกกฎหมายให้แผ่นดินของเราถูกแยกไปเป็นประเทศเอกราช หรือออกกฎหมายแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของเรา เราก็คงไม่ยอม.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com