ไททัน (Titan) เป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในระบบสุริยะ บริวารของดาวเสาร์ดวงนี้เต็มไปด้วยความลึกลับ เนื่องจากมีเมฆหมอกเป็นก๊าซมีเทนที่หนาทึบปกคลุมพื้นผิวทำให้ป้องกันการมองเห็นในเชิงลึกเกี่ยวกับลักษณะทางธรณีวิทยาที่สำคัญ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็หาวิธีมองผ่านเมฆหมอกเหล่านั้นได้ ด้วยการสำรวจของยานอวกาศแคสสินีที่โคจรรอบดาวเสาร์ระหว่างปี พ.ศ.2547-2560 และเคลื่อนผ่านดวงจันทร์ไททันมามากกว่า 120 ครั้ง
เพื่อพิสูจน์ว่าพื้นผิวของดวงจันทร์ไททันประกอบด้วยทะเลสาบมีเทนขนาดใหญ่ การผ่านซ้ำๆ หลายครั้ง เครื่องมือเรดาร์ของยานแคสสินีจึงมีเวลาตรวจสอบคุณลักษณะของไททัน และทำให้เกิดแผนที่ทางธรณีวิทยาครั้งแรกของดวงจันทร์ที่แปลกและเย็นเยือก นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หรือแคลเทค (California Institute of Technology-Caltech) เผยเมื่อเร็วๆนี้ ลักษณะภายนอกของไททันคือหนึ่งในความหลากหลายทางธรณี- วิทยาที่มากที่สุดในระบบสุริยะของเรา คุณสมบัติหลัก 6 ประการในทางธรณีวิทยาที่ถูกกระบุคือ มีที่ราบ, เนินทราย, ภูเขาขนาดเล็ก, ทะเลสาบ, ผืนดินมีความสลับซับซ้อน และหลุมอุกกาบาต ซึ่งพื้นผิวของไททันนั้นเต็มไปด้วยที่ราบตรงเขตละติจูดกลาง คิดเป็นประมาณ 65% ของแผนที่ทั้งหมด เนินทรายขยายความยาวตามเส้นศูนย์สูตร ขณะที่ขั้วดาวเป็นที่ตั้งของทะเลสาบมีเทนแปลกๆ
...
นักวิทยาศาสตร์สังเกตพบว่าทะเลสาบ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ แต่ที่ขั้วโลกใต้นั้นค่อนข้างแห้ง นี่อาจเป็นผลมาจากวัฏจักรสภาพอากาศและคุณสมบัติที่แตกต่างกันของไททันชี้ให้เห็นว่ามีกระบวนการหลายอย่างที่ก่อเกิดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ดวงนี้ ซึ่งควบคุมโดยสภาพอากาศ ฤดูกาล และเนินเขา.