(ภาพจาก : NASA)
การเสื่อมโทรมของทะเลน้ำแข็งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะจากการสำรวจดาวเทียมชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่ พ.ศ.2522 ปริมาณน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกช่วงเดือน ก.ย.จนถึงเดือนที่มีน้ำแข็งในทะเลน้อยที่สุดก่อนที่น้ำจะเริ่มแข็งตัวอีกครั้ง มีอัตราอยู่ที่ 13% ต่อทศวรรษ นักวิทยาศาสตร์พยายามทำนายอนาคตของน้ำแข็งทะเลอาร์กติกมานานหลายสิบปี โดยอาศัยแบบจำลองสภาพภูมิอากาศโลกหลายรูปแบบ ที่เสนอว่าระบบภูมิอากาศจะตอบสนองต่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศอย่างไร
แต่จากการศึกษาใหม่โดยนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส หรือยูซีแอลเอ ในสหรัฐอเมริกา พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ อาจนำไปสู่การที่มหาสมุทร อาร์กติกไม่มีน้ำแข็งในอีก 25 ปี หรือราวๆปลาย พ.ศ.2587 วิธีที่พวกเขาพิจารณาคือกระบวนการที่เรียกว่าอัลบีโด ฟีดแบ็ก (Albedo feedback) จะเกิดขึ้นเมื่อแผ่นน้ำแข็งทะเลละลายอย่างสมบูรณ์ น้ำแข็งมีการเปลี่ยนแปลงในการสะท้อนแสงของพื้นผิวทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น นำไปสู่การละลายน้ำแข็งมากขึ้น วัฏจักรนั้นทำให้ภาวะโลกร้อนย่ำแย่ลง เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้อาร์กติกร้อนขึ้นเร็วเป็น 2 เท่าของโลก
ชะตากรรมของน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกถือเป็นหัวข้อสำคัญของนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศเนื่องจากมีบทบาทในอุณหภูมิทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศและเศรษฐกิจในวงกว้าง หากล่วงรู้การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นก็จะสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้ทันท่วงที.